CP ลุย ‘ธุรกิจไฮเทค’ จีน สนลงทุนเพิ่มนิวเอสเคิร์ฟ ‘ชิป เอไอ’

CP ลุย ‘ธุรกิจไฮเทค’ จีน สนลงทุนเพิ่มนิวเอสเคิร์ฟ ‘ชิป เอไอ’

“ซีพี” ชี้เศรษฐกิจจีนฟื้น พร้อมเปิดประเทศดึงต่างชาติลงทุน เผยสนขยายลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของจีน “การแพทย์ชีวภาพ ชิป เอไอ อากาศยาน” ต่อยอดธุรกิจปัจจุบัน ระบุจีนโรดโชว์ดึงไทยเข้าลงทุน ระบุเขตลู่เจียจุ่ย เซี่ยงไฮ้ ให้สิทธิประโยชน์เต็มที่ ลดภาษีเงินได้เหลือ 15% 

Key Points

  • CP เริ่มเข้าไปลงทุนในจีนตั้งแต่ปี 2524 ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น
  • ปัจจุบันมีธุรกิจในจีน 600 บริษัท มีพนักงานเกือบ 100,000 คน
  •  สนใจลงทุน New s curve ของจีน คือ ชิป เอไอ การแพทย์ชีวภาพ อากาศยาน
  • มีหลายเมืองของจีนมาโรดโชว์เพื่อดึงธุรกิจไทยไปลงทุน เช่น ลู่เจียจุ่ยของเซี่ยงไฮ้

ภายหลังจากที่ประเทศจีนมีนโยบายเปิดประเทศเมื่อปี 2521 นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้เข้าไปลงทุนเมื่อปี 2524 โดยใช้ชื่อบริษัทเจิ้งต้าและเป็นบริษัทต่างชาติบริษัทแรกที่ได้จดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลจีนนำร่องการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนในระยะแรกของซีพีเริ่มต้นลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ รวมถึงลงทุนตั้งฟาร์มสุกรและไก่ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่เชี่ยวชาญและเป็นธุรกิจหลักที่มีฐานอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจเครือซีพีในจีน

ในปัจจุบันธุรกิจของซีพีในเอเชียตะวันออก (จีนและไต้หวัน) ประกอบด้วยโรงงานผลิต 150 แห่ง, ฟาร์มเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์น้ำ 126 แห่ง , ศูนย์จำหน่ายสินค้าของ Makro 1 สาขา , ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิซุปเปอร์มาร์เก็ตของ Lotus's และ Lotus's Supercenter 111 สาขา, ศูนย์วิจัยและพัฒนา สถานีวิจัย 48 แห่ง (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2564)

การดำเนินธุรกิจในจีนที่เกี่ยวข้องกับซีพีจะมี 2 ส่วน คือ

1.การลงทุนจากซีพีประเทศไทย ซึ่งนายธนินท์ เป็นผู้เข้าไปบุกเบิกร่วมกับนายสุเมธ เจียรวนนท์ พี่ชายนายธนินท์ เริ่มตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร จักรยานยนต์และธุรกิจการเงิน และล่าสุดมีนายสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายนายธนินท์เป็นผู้ดูแลธุรกิจในจีนกลุ่มนี้

2.การลงทุนของญาติในจีน ซึ่งรวมถึงธุรกิจที่ “เซี่ย ปิ่ง” หรือTse Ping ที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Sino Biopharmaceutical และ CP Pharmaceutical Group ซึ่งมีการผลิตยาออกมาหลายประเภทได้แก่ ยาชีวภาพและยาเคมีหลายชนิด และเป็นผู้นำการผลิตยาหลายโรค เช่น โรคตับ เนื้องอกโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดโรคกระดูก ระบบย่อยอาหาร โรคภูมิคุ้มกันและระบบทางเดินหายใจและที่ผ่านมาเน้นการวิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์

นายธนากร เสรีบุรี รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์  นายธนากร เสรีบุรี รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีธุรกิจในประเทศจีนมากกว่า 600 บริษัท กระจายอยู่ในทั่วทุกมณฑลของประเทศจีน มีพนักงานรวมกันเกือบ 100,000 คน โดยธุรกิจที่ซีพีเข้าไปลงทุนครอบคลุมทั้งด้านธุรกิจการเกษตรและอาหาร ธุรกิจการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจการค้าปลีก ธุรกิจยา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจการเงิน

ทั้งนี้ ในฐานะที่ซีพีเข้าไปลงทุนในประเทศจีนมานาน และมีพันธมิตรบริษัทจีนหลายราย มองว่าเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นตัว โดยแม้ว่าที่ผ่านมาประเทศจะเจอวิกฤติโควิด-19 อย่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 แต่เศรษฐกิจประเทศจีนก็ยังขยายตัวได้ เพียงแต่การขยายตัวน้อยกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 

นอกจากนี้ ซีพีได้เตรียมมองการลงทุนในประเทศจีนด้วยการขยายลงทุนใหม่ใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย การแพทย์ชีวภาพ เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์และอากาศยาน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ที่ประเทศจีนกำลังสนับสนุนให้เข้าไปลงทุน

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมาตั้งแต่ปี 2563 ได้ส่งผลให้ประเทศจีนใช้นโยบายปิดประเทศ แต่ขณะนี้จีนได้มีนโยบายเปิดประเทศ ซึ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมความพร้อมรับการเปิดประเทศ

“คาดว่าแนวโน้มการลงทุนระหว่างไทยและจีนในปี 2566 จะเริ่มกลับมา หลังจากที่แผ่วลงไปในช่วง 3 ปีที่จีนปิดประเทศ เนื่องจากนักธุรกิจไม่สามารถเดินทางเพื่อพบปะเจรจากันได้ ดังนั้นจึงมองว่าปีนี้เป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยที่จะเร่งกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น”นายธนากร กล่าว

นอกจากนี้ ในปัจจุบันจีนต้องการให้บริษัทไทยเข้าไปลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2566 สำนักงานบริหารลู่เจียจุ่ย (Lujiazui) เขตเสรีเซี่ยงไฮ้ ได้นำคณะมาเพื่อโรดโชว์การลงทุน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจไทยและเชิญชวนให้มาจัดตั้งบริษัทในลู่เจียจุ่ยของเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีความพร้อมด้านสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก และมาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งระบบนิเวศอย่างรอบด้านที่จะขยายตัวอีกมากในอนาคต

นายธนากร กล่าวว่า ที่ผานมาซีพีมีการลงทุนในพื้นที่ลู่เจียจุ่ยในธุรกิจด้านการเกษตร อาหารค้าปลีก โมเดิร์นเทรด และห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์แบรนด์มอลล์ ขนาด 247,000 ตารางเมตร ซึ่งเคยเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดในเขตผู่ตง

“ลู่เจียจุ่ยเป็นเมืองที่ให้สิทธิประโยชน์ดีที่สุดในประเทศจีน ทั้งยังมีความพร้อมในเรื่องกำลังคนแรงงานทักษะสูงที่เข้าใจในการทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ โดยหลังจากนี้เมื่อจีนเปิดประเทศแล้วซีพีมีแผนจะขยายการลงทุนในจีนเพิ่มเติม เตรียมเดินทางไปพบปะกับนักลงทุนในพื้นที่เพื่อศึกษาตลาดใหม่” นายธนากร กล่าว

นอกจากนี้ หากมองทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจีนในอีก 5 ปี ข้างหน้า จะเห็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น โดยประเทศจีนวางนโยบายการพัฒนาขึ้นกับ 3 แนวทาง คือ 

1.การให้ประชาชนเข้ามาอยู่ในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคบริการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย 

2.การเกษตรของประเทศจันจะใช้รูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งใช้รูปแบบเดียวกับการพัฒนาภาคเกษตรของสหรัฐที่ทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และมีการใช้เครื่องจักรกลในการทำเกษตรมากขึ้น 

3.การลงทุนจะเน้นธุรกิจเทคโนโลยีสูง โดยเอกชนไทยที่จะไปลงทุนในประเทศจีนจำเป็นจะต้องศึกษาว่าจะต้องการการลงทุนธุรกิจใดจึงจะเหมาะสม

“ที่ผ่านมารัฐบาลจีนมีบทบาทในบริษัทเอกชนและทำให้ธุรกิจขยายตัว โดยรัฐบาลจีนมีกลยุทธ์สร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม เช่น ลดการผลิตสิ่งทอที่เซี่ยงไฮ้เพื่อผลักดันเป็นศูนย์กลางแฟชัน และย้ายอุตสาหกรรมทอผ้าไปพื้นที่ตอนใน” นายธนากร กล่าว

ในขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนเดิมแต่ละมณฑลแข่งขันให้จีดีพีขยายตัวแต่ปัจจุบันแต่ละมณฑลได้แข่งขันดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงทุน ซึ่งการที่เศรษฐกิจสามารถพัฒนามาได้ถึงปัจจุบันขึ้นกับปัจจัย ดังนี้ 

1.การพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ปัจจุบันพัฒนาได้ระยะทาง 40,000 กิโลเมตร 

2.การพัฒนาทางด่วนมอเตอร์เวย์ปัจจุบันระยะทาง 1.1 แสนกิโลเมตร 

3.การพัฒนาสนามบินซึ่งมีการพัฒนาสนามบินใหญ่ทั่วประเทศ 60-70 แห่งทั่วประเทศ

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศจีนดังกล่าวทำให้ทำให้สินค้าเกษตรพระจายจากแหล่งผลิตเข้าสู่ตลาดได้ ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง และการเดินทางสะดวกขึ้น” นายธนากร กล่าว

นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน กล่าวว่า ประเทศจีนมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของไทยในหลายมิติ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน ซึ่งคาดว่าประเทศจีนจะยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ทางเศรษฐกิจนี้เอาไว้ได้ในปี 2566 ทั้งยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากในอนาคต ภายใต้นโยบาย Made in China ซึ่งจะนำไปสู่การขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในไทยและเชื่อมโยงไปยังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ขณะเดียวกันในปี 2566 ประเทศจีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย จะเห็นภาพการกลับมาของนักท่องเที่ยวหลายล้านคนในไทย รวมทั้งการเจรจาธุรกิจการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจีนเองยังต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาที่มหานครเซี่ยงไฮ้ทำเลยุทธศาสตร์ที่เป็นเสมือน “หัวมังกร” ทางเศรษฐกิจของจีน

ซึ่งมีพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ที่ทันสมัย รวมถึงการกำหนดเป็นพื้นที่เขตการค้าเสรี (Free Trade Zone) หนึ่งในนโยบายสำคัญที่เริ่มทดลองใช้ในเซี่ยงไฮ้เป็นแห่งแรกในจีน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาจีนในระยะยาว

นายหยวน เย่เฟิง รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารลู่เจียจุ่ย (Lujiazui) เขตเสรีเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่าลู่เจียจุ่ยเป็นเมืองใหม่ทางตะวันออกของแม่น้ำหวงผู่ ขนาด 32 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตผู่ตง ประเทศจีน ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลกทัดเทียมลอนดอนและนิวยอร์ก โดยปี 2015 ลู่เจียจุ่ย ตั้งเป็นเขตการค้าเสรีทำให้ท่าเรือที่มีปริมาณขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดในโลกติดต่อกัน 10 ปี โดยลู่เจียจุ่ยเป็นเขตเดียวในประเทศจีนที่มีทั้งแต้มต่อทั้งด้านการเงินและการค้า

นอกจากนี้ ปี 2021 ประเทศจีนได้ออกนโยบายสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับนักลงทุนต่างชาติโดยผ่อนคลายข้อจำกัดหลายด้านต่อเนื่อง เช่น อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา15% ซึ่งต่ำกว่าพื้นที่อื่นที่จัดเก็บอัตรา 25% รวมถึงให้ความสะดวกวีซ่าระยะยาวกับต่างชาติอนุญาตการใช้ใบประกอบวิชาชีพของต่างประเทศโดยไม่ต้องวัดผลใหม่

ลู่เจียจุ่ยกำหนด 3 ธุรกิจที่ต้องการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน ได้แก่ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และบริการทางธุรกิจ ที่จะช่วยสร้างอีโคซิสเต็มที่สมบูรณ์ให้กับการลงทุน ได้แก่ธุรกิจกฎหมาย บัญชี ดิจิทัล รวมถึง 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลจีนสนับสนุน ประกอบด้วยอุตสาหกรรมยา ไบโอเทคโนโลยี ไมโครชิป อากาศยาน

ปัจจุบัน ลู่เจียจุ่ย เป็นศูนย์กลางธุรกิจสำคัญในประเทศ โดยมีสถาบันการจัดการสินทรัพย์ระดับโลกจาก 13 ประเทศและภูมิภาค อาทิ สหรัฐ เยอรมนี เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์อิตาลี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวม 106 บริษัท ได้เข้ามาตั้งในลู่เจียจุ่ย โดยบริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของบริษัทจัดการกองทุนทั้งหมดในจีน