‘ประยุทธ์’ประชุมบอร์ดเอสเอ็มอีสั่งทำแผนหนุนผู้ประกอบการรับศก.ฟื้น

‘ประยุทธ์’ประชุมบอร์ดเอสเอ็มอีสั่งทำแผนหนุนผู้ประกอบการรับศก.ฟื้น

“ประยุทธ์”ประชุมบอร์ด สสว. ติดตามความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือ SME รับทราบดัชนีความเชื่อมั่น SME เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ปรับสูงสุดในรอบ 21 เดือน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ใกล้เคียงสถานการณ์ปกติ 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันนี้ (24 ก.พ. 66)  ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) หรือ "บอร์ดเอสเอ็มอี" ครั้งที่ 2/2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมด้วย ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้แนวโน้มดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยว และกำลังซื้อจะเพิ่ม ทำให้เศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับปกติ โดยเฉพาะกับภาคการค้า และภาคการบริการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยให้ฝ่ายเลขาฯ (สสว.) รับข้อเสนอแนะและความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในการจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนสมบูรณ์ ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต่อไป

นายกรัฐมนตรีขอบคุณคณะกรรมการฯ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) และ SME ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องส่งผลให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้ามาโดยลำดับ โดยขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการติดตามผลสำเร็จที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงการหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ยังติดขัดอยู่ เพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อน SME เดินหน้าได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์จากสิ่งที่ดำเนินการ โดยเฉพาะการทำให้เศรษฐกิจฐานรากและท้องถิ่นมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ดังนั้น จึงขอให้ทุกหน่วยงานและทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันดำเนินการในเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ ตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง 

นายกรัฐมนตรีได้ติดตามและรับทราบรายงานความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือ SME และการลดภาระค่าใช้จ่ายของ SME โดยเน้นย้ำถึงการเร่งดำเนินการขยายผลมาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่กำหนดสัดส่วนให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการ SME ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินงบประมาณในแต่ละปี เพราะวันนี้เศรษฐกิจจะหวังพึ่งพาเรื่องการส่งออกเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องมีการเพิ่มเรื่องของการใช้จ่ายในประเทศให้มากขึ้นด้วย พร้อมทั้งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดูแลไปถึงเรื่องของยางพาราไทย โดยเฉพาะการสนับสนุนส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้เพิ่มขึ้นตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงสนับสนุนส่งเสริม SME ไทย เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์และสินค้าภายในประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตลอดจนมาตรการกีดกันทางด้านการค้าต่าง ๆ ด้วย 

นายกรัฐมนตรีขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องมาตรฐานอาหารฮาลาลของ SME ไทยอย่างจริงจัง ให้ได้รับการยอมรับในตลาดประเทศตะวันออกกลางและซาอุดีอาระเบีย เพื่อเพิ่มตลาดใหม่ให้กับสินค้า SME ไทยได้มากขึ้นนอกจากตลาดเดิมที่มีอยู่แล้ว ควบคู่กับการส่งเสริมการส่งออกสินค้า SME ไทยไปขายในต่างประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าไทยในต่างประเทศได้รับนิยมอย่างมากในขณะนี้  พร้อมกับนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความก้าวหน้าของอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย ภายหลังจากที่เมื่อวานนี้ (23 ก.พ. 66) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมชมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพบว่ามีหลายอย่างมีก้าวหน้าและพัฒนาไปมาก ผลผลิตที่ออกมาก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและมีมูลค่ามากขึ้น ซึ่งตรงกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม โดยเฉพาะการนำมาใช้ในการพัฒนาด้านการเกษตรและปศุสัตว์ของประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างมากในการทำให้เกิดการเพิ่มผลผลิตดังกล่าว และมีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล รวมทั้งต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและทิศทางของโลก เช่น เรื่องของการปลูกพืชในพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกกีดกันทางการค้า เป็นต้น 

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่าผลการประชุมต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาล ต้องช่วยกันนำไปขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีการสรุปรายละเอียดการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ให้ชัดเจนทั้งเรื่องที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว และเรื่องที่ทำอยู่ รวมไปถึงเรื่องที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไปและเรื่องที่จะทำใหม่ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้การทำงานเกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย ประชาชนพึงพอใจ และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งนี้ เรื่องใดที่สามารถทำได้ก็ให้ทำให้เร็วขึ้น ส่วนเรื่องใดที่ติดขัดอุปสรรคปัญหาก็ช่วยกันหาแนวทางที่จะแก้ไขต่อไป ยึดหลักการทำให้ดี ทำให้ปลอดภัย และทำให้ก้าวหน้า โดยรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาในการดำเนินการต่อไปด้วย 

ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและรับทราบในประเด็นสำคัญ เช่น รับทราบและติดตามรายงานสถานการณ์ MSME ปี 2565 สรุป ณ สิ้นสุดไตรมาส 4 โดย สสว.จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์ MSME ปี 2565 ดังกล่าวโดยสรุปพบว่า

 

(1) GDP MSME: ปี 2565 มีมูลค่า 6.11 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.5% คิดเป็นสัดส่วน 35.2% ของมูลค่า GDP ประเทศ

 

(2) การส่งออกของ MSME: ปี 2565 มีมูลค่า 1,060,207.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30,508.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.0% สัดส่วนของมูลค่าการส่งออกของ MSME ต่อมูลค่าการส่งออกรวมเท่ากับ 10.6%

 

(3) การจ้างงานรวม: จำนวน 12.63 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.25% การจ้างงานของ MSME ในระบบประกันสังคม ณ ธ.ค. 65 มีจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 4,074,240 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.7% และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนจะขยายตัว 3.2%

(4) ดัชนีความเชื่อมั่น SMESI: ณ เดือน ธ.ค. 2565 อยู่ที่ 55.7 สูงสุดในรอบ 21 เดือน และ (5) ธุรกิจจัดตั้งใหม่: เดือน ธ.ค. 65 มีจำนวน 4,008 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.2% ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 352 ราย คิดเป็น 8.8% รองลงมาคือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 318 ราย คิดเป็น 7.9% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 201 ราย คิดเป็น 5.0% ตามลำดับ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปี 2566 GDP MSME จะขยายตัว 4.9% หรือคิดเป็นมูลค่า 6.13 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นฯ SME ปัจจุบันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และปรับสูงสุดในรอบ 21 เดือน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นใกล้เคียงสถานการณ์ปกติ โดยเฉพาะกำลังซื้อจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวทั้งจากในและต่างประเทศ รวมถึงกำลังซื้อจากแรงงานที่การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น และการจ่ายเงินโบนัสประจำปี ซึ่งเป็นผลดีกับกำลังซื้อ