หอการค้าไทย-จีน คาดเวที WCEC ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าไทยกว่าหมื่นล้านบาท

หอการค้าไทย-จีน คาดเวที WCEC ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าไทยกว่าหมื่นล้านบาท

หอการค้าไทย-จีน ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมนักธุรกิจจีนโลก 24-26 มิ.ย.นี้ เผย มีผู้ร่วมงานกว่า 4,000 คน คาดเงินสะพัดกว่า 400-500 ล้านบาท ดึงเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายกว่าหมื่นล้านบาท เผยไทยเป็นประเทศเป้าหมายอันดับแรกการลงทุนจีน

นายจุรินทร์   ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานแถลงข่าวจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก(WCEC)ครั้งที่16 โดยกล่าวว่า เป็นโอกาสดีของไทยที่มีโอกาสเป็นเจ้าบ้านต้อนรับนักธุรกิจชาวจีนจากทุกมุมโลก คาดการณ์กว่า 4,000 คน จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของไทยในอนาคต ซึ่งหอการค้าไทย-จีน ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งมีส่วนสำคัญพัฒนาเศรษฐกิจการค้าการลงทุน เป็นกลไกที่มีศักยภาพ สร้างสรรค์เศรษฐกิจการค้าของไทยให้ดีขึ้นตลอดมา ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญประสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน เพราะจีนไทยไม่ใช่อื่นไกลพี่น้องกัน เมืองไทยมีนักธุรกิจเชื้อสายจีนจำนวนมากมีส่วนสำคัญพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ และสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยาวนานจนถึงวันนี้

สำหรับตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับจีนปี 2565 จีนเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 1 ของไทย มูลค่าการค้าระหว่างกัน 3.69 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของการค้าไทยค้ากับทั้งโลก อัตราการเติบโตทางการค้าปีที่แล้วกับจีนบวก 1.53% ตนมีส่วนช่วยผลักดันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนที่เป็นรูปธรรมคือ 1.กำลังผลักดันยกระดับ FTA ระหว่างจีนกับอาเซียน 2. เราจับมือกันแน่นระหว่างไทยและจีนภายใต้ความร่วมมือ RCEP ปัจจุบันเป็น FTA ที่ใหญ่สุดในโลก

3.กระทรวงพาณิชย์ลงนามความร่วมมือรูปแบบพิเศษ เรียกว่า “mini FTA” กับหลายเมืองหลายมณฑลของจีน ที่ประสบความสำเร็จและบังคับใช้แล้วคือ กระทรวงพาณิชย์ไทยกับมณฑลไห่หนาน กับมณฑลการซู่ และจะลงนามวันที่ 1 มี.ค. นี้ คือ กระทรวงพาณิชย์ไทยกับเซินเจิ้น และกับยูนนานในอนาคต เป็นรูปธรรมทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับจีนที่ลงลึกถึงระดับ mini FTA

 

นายหาน จื้อเจียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเวทีที่นักธุรกิจจีนทั่วโลกจะได้มาค้นหาโอกาสใหม่ๆด้านธุรกิจหลังโควิด ซึ่งการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกจัดประชุมครั้งแรกเมื่อ คศ.1991 และจัดประชุมทุกๆ 2 ปี ล่าสุดครั้งที่ 15 จัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2562 แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดประชุมเว้นว่างเป็นเวลาถึง 4 ปี และครั้งนี้ได้กลับมาประชุมในประเทศไทยในรอบ 28 ปี ถือเป็นการประชุมครั้งแรกสำหรับนักธุรกิจจีนโลกที่จะก้าวไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งเชื่อมั่นว่า การประชุมนี้จะประสบความสำเร็จและช่วยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้

นายณรงศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า การประชุม WCEC จัดขึ้นวันที่ 24-26 มิ.ย.นี้ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในใต้ธีม “ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยภูมิปัญญา นักธุรกิจจีน” โดยจะมีนักธุรกิจชาวจีนและนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลกว่า2,000คนมีผู้ติดตามรวมๆ4,000คนร่วมเดินทางเยือนประเทศไทยและจะมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยด้วยสำหรับนักธุรกิจจีนและนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยในประเทศไทยขณะนี้มีอยู่ประมาณ1,000คนก็จะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและเป็นประเทศที่มีนักธุรกิจชาวจีนอาศัยมากที่สุด มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และมีความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับจีนทั้งด้านอุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตร เทคโนโลยี พลังงาน และการท่องเที่ยว

 ปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังส่งเสริมการเชื่อมโยงในเชิงลึกระหว่างไทยแลนด์ 4.0 เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง BRI รวมถึงการเชื่อมโยงโอกาสจากการพัฒนาอ่าวกวางตุ้ง ฮ่องกงและมาเก๊า การพัฒนาเขตการค้าเสรีไห่หนาน ระเบียงเศรษฐกิจปักกิ่ง เทียนสิน เหอเป่ยและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง นอกจากนี้ยังมีอาร์เซ็ป ทำให้ไทยกลายเป็นตัวเลือกลำดับแรกสำหรับการลงทุนของนักลงทุนชาวจีนด้วยข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าประเทศอื่น

"หัวข้อสำคัญในการหารือร่วมกันในครั้งนี้ คือ การเปิดพื้นที่ให้นักธุรกิจจีนจากทั่วโลกมาพบปะหารือแนวโน้มร่วมกับนักธุรกิจไทย และสร้างการขับเคลื่อนไปข้างหน้าต่อ โดยประเมินการคลายตัวของโควิด-19 ที่คาดว่าคงไม่เกิดการระบาดรุนแรงขึ้นอีกแล้ว ทำให้ตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีของนักธุรกิจจีนที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยการประชุม WCEC คาดว่าจะทำให้มีเงินสะพัด 400-500 ล้านบาท และมีเม็ดเงินทุนในอุตสาหกรรมใหม่ของไทยประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท“นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

การจัดงานครั้งนี้คาดหวังผลสำเร็จได้มากพอสมควร หลังจากปี 2565 ได้จัดงานการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ขึ้น โดยเฉพาะการได้อานิสงส์จากนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เข้าร่วมงานประชุมดังกล่าวด้วย ทำให้นักธุรกิจจีนมีความกระตือรือร้นเพิ่มขึ้น และพยายามที่จะออกมาลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น 

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า นักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย สนใจธุรกิจในกลุ่มไฮเทคโนโลยี อาทิ โซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้มีหลายค่ายเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว โดยหลังการประชุมครั้งนี้จะมีเข้ามามากขึ้นอีก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีคณะนักลงทุนจีนเข้ามาสำรวจธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาในแง่กฎหมายไทย ที่มองว่าเอื้อการลงทุนอยู่แล้ว แต่กระบวนการทำงานยังต้องปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น โดยสิ่งที่เราต้องเร่งแก้ไขเป็นเรื่องแรงงานที่ขาดแคลนพอสมควร โดยต้องประเมินว่าขาดบุคลากรในด้านใดขาด และหาเข้ามาเสริม อย่างแรงงานคุณภาพสูงต่างๆ

สำหรับกรณีการเลือกตั้งที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้นแล้วนั้น มองการเมืองไทยไม่ได้เป็นประเด็นส่งผลต่อการเข้ามาของนักลงทุนจีน เนื่องจากการอยู่ที่จีนอาจมีความเสี่ยงมากกว่าด้วย แม้อาจทำให้บางนโยบายมีความล่าช้าไปบ้าง