เปิดเบื้องหลัง หั่นราคาดีเซล-ค่าการตลาดเบนซิน ต้องใช้เวลาหลายวัน?

เปิดเบื้องหลัง หั่นราคาดีเซล-ค่าการตลาดเบนซิน  ต้องใช้เวลาหลายวัน?

เปิดเบื้องหลัง "กระทรวงพลังงาน" ไฟเขียวปรับลดราคาน้ำมันดีเซล และลดค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน แม่ทำไมไม่สามารถลดราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการได้ทันที และต้องใช้เวลาหลายวัน?

จากกรณีที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่ 1.34 บาทต่อลิตร ออกไปอีกจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ประกอบกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนบัญชีน้ำมันมีรายรับประมาณ 516 ล้านบาทต่อวัน (หรือ 14,455 ล้านบาทต่อเดือน) ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันมีฐานะติดลบน้อยลง

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน วันที่ 14 ก.พ. 2566 ได้มีมติเห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม โดยปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลับสู่สภาวะปกติตามปี 2563 ทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอล เฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร

ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีรายรับในส่วนของน้ำมันดีเซลลดลงเป็นประมาณ 37.23 ล้านบาทต่อวัน (หรือประมาณ 1,117 ล้านบาทต่อเดือน) ทั้งนี้ จะทำให้ราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินปรับลดลง ประมาณ 0.90 – 1.20 บาทต่อลิตร โดยจะมีผลตั้งแต่ วันที่ 15 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันที่ประชุม คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก็ได้เห็นชอบการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงอีกเป็นครั้งที่ 2 ลิตรละ 50 สตางค์ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณลิตรละ 34 บาท โดยราคาขายปลีกดีเซลใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 เป็นต้นไป

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า การปรับลดราคาน้ำมันดีเซลครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือนก.พ. 2566 ทั้งนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังมีความผันผวนแต่ไม่มากนักเฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ระหว่างวันที่ 1 – 13 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 106.29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้การบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น

อย่างไรกตาม สำหรับข้อซักถามของประชาชนกรณีที่ว่าทำไมไม่ยอมลดราคาดีเซลลงทุนที ต้อให้มีผลในอีก 1 สัปดาห์นั้น สาเหตุหลัก ๆ มาจากการคำนึงถึงสต็อกน้ำมันของสถานีบริการน้ำมันทั้งเล็กและใหญ่เพื่อให้มีเวลาถ่ายเท โดยปั๊มเล็กจะใช้เวลาราว 10 วัน ส่วนปั๊มใหญ่จะอยู่ราว 5 วัน ดังนั้น จึงได้หารือกับกรมธุรกิจพลังงาน หาค่าเฉลี่ยและกำหนดเป็นรายสัปดาห์ ส่วนราคาน้ำมันเบนซินนั้น รัฐบาลได้ได้เข้าไปพยุงราคาตั้งแต่ต้นแต่ให้เป็นไปตามกลไกตลาดโดยรัฐคอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น สถานะการติดลบเริ่มลดลงเป็นลำดับ โดยสัปดาห์ ล่าสุด วันที่ 12 ก.พ. 2566 ติดลบ 108,610 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้า วันที่ 29 ม.ค. 2556 ติดลบอยู่ที่ 113,436 ล้านบาท และวันที่ 5 ก.พ. 2566 ติดลบ 111,409 ล้านบาท