ความท้าทายเมื่อไทยอยากเป็น รัฐสวัสดิการ

ความท้าทายเมื่อไทยอยากเป็น รัฐสวัสดิการ

เสียงเรียกร้องต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อมุ่งสู่รัฐสวัสดิการมีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีแนวโน้มพบกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ภาระทางการคลัง การจัดเก็บภาษีและการบริหาร ที่อาจเข้ามาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ

อีกทั้งส่งผลให้รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการแก่ประชาชนสูงขึ้น ในขณะที่มีรัฐรายได้น้อยและมีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพการจัดสวัสดิการ และความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้รับผลกระทบ

ความท้าทายแรก คือการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย โดยภายในปี 2579 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) หรือการที่มีประชากรผู้สูงวัยร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

ซึ่งเกิดจากการที่คนไทยมีลูกน้อยลง เฉลี่ยเพียง 1-2 คนเท่านั้น อีกทั้งคนไทยอายุยืนมากขึ้น โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ปี เนื่องจาก ระบบสาธารณสุขและการแพทย์มีการพัฒนา 

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรเช่นนี้ ผลที่ตามมาคือประเทศจะสูญเสียประชากรวัยทำงานอย่างน้อย 7 ล้านคน จาก 42 ล้านคน จะเหลือเพียง 35 ล้านคนในปี 2583

ในขณะที่เด็กจะเกิดไม่พอทดแทนแรงงาน เศรษฐกิจและงบประมาณของประเทศก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เนื่องจากขาดทรัพยากรบุคคลที่จะขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ความท้าทายเมื่อไทยอยากเป็น รัฐสวัสดิการ

ประกอบกับประเทศก็มีผลิตภาพแรงงานที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในภาคเกษตรและบริการ ด้วยจำนวนแรงงานที่ลดลง ยิ่งส่งผลให้ประเทศมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงไปกว่าเดิม 

งบประมาณของประเทศก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งในแง่ของรายได้จากผู้เสียภาษีที่รัฐจะสามารถนำมาใช้สำหรับการจัดสวัสดิการทางสังคมลดลง และงบประมาณที่จะต้องใช้เพื่อประคับประคองประชากรเหล่านี้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับรักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพ และบำนาญจะเพิ่มขึ้น

ธนาคารโลกได้ประเมินว่า ประเทศไทยจะต้องใช้งบประมาณเพื่อจัดสรรเงินช่วยเหลือและเงินบำนาญเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 1.4 ของ GDP (2560) เป็นร้อยละ 5.6 ในปี 2603 ดังนั้น การก้าวสู่สังคมสูงวัย จะเป็นความท้ายทายด้านภาระทางการคลังให้แก่รัฐบาลอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายด้านภาระทางการคลังไม่ได้มาจากการเป็นสังคมสูงวัยเพียงเท่านั้น เพราะคนไทยยังมีแนวโน้มเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น

จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนสมัยใหม่ที่เร่งรีบและมีความเครียดสูง ยังไม่รวมถึงโอกาสของการเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ และโรคภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้งบประมาณสำหรับสวัสดิการด้านสุขภาพของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ความท้าทายเมื่อไทยอยากเป็น รัฐสวัสดิการ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่ารายจ่ายของรัฐบาลสำหรับสวัสดิการด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้น จาก 2.9 ของ GDP เป็น 4.9 ในปี 2603 

ความท้าทายหลักด้านภาษีที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเป็นรัฐสวัสดิการ คือ การที่รัฐจัดเก็บภาษีได้น้อย โดยอัตราภาษีรายได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ร้อยละ 5-35 ภาษีรายได้นิติบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 20 และภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 7 ถือเป็นอัตราที่ต่ำมาก

เมื่อเทียบกับรัฐสวัสดิการอย่างประเทศสวีเดน และจำนวนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีเพียงประมาณร้อยละ 6 ของประชากรทั้งประเทศ โดยรายได้จากการจัดเก็บภาษีรวมอยู่ที่ร้อยละ 13.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2564

รายได้หลักของรัฐบาลมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 47.49 ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด รองลงมาคือภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 37.44 และ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 20.2 

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าประชาชนส่วนมากยังมีรายได้ต่ำหรือยังไม่เต็มใจที่จะเสียภาษี ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่รัฐนําภาษีไปใช้ในนโยบายที่เห็นผลได้ช้าทำให้ประชาชนไม่สามารถเห็นผลของการจ่ายภาษีได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการที่จะเสียภาษี และพยายามหาทางลดหย่อนหรือหลบหลีกการเสียภาษี 

ความท้าทายด้านสุดท้าย คือ ด้านการบริหาร อย่างประเด็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เนื่องจากความน่าเชื่อถือของภาครัฐถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการยอมจ่ายภาษีของประชาชน เนื่องจากเป็นผู้จัดเก็บ บริหาร และใช้ประโยชน์จากภาษีดังกล่าวเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่ 110 ของดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index) จากทั้งหมด 180 ประเทศ ด้วยคะแนน 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

ภาพลักษณ์เช่นนี้ของรัฐบาล ได้สร้างความไม่เชื่อมั่นแก่ประชาชนต่อทั้งตัวรัฐบาลเองและหน่วยงานจัดเก็บ ส่งผลให้ประชาชนไม่เต็มใจจ่ายภาษี จึงเป็นอุปสรรคต่อการเป็นรัฐสวัสดิการ ที่ต้องการความร่วมมือจากประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีเป็นอย่างสูง

ภาครัฐจึงต้องแสดงถึงความชัดเจนในการใช้ภาษีว่าจะถูกนําไปใช้ประโยชน์ในด้านใด รวมถึงเปิดช่องทางให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และตรวจสอบการใช้ภาษีอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างความชอบธรรมและความชัดเจนของภาครัฐในการใช้ภาษี

  การวางเป้าหมายสู่รัฐสวัสดิการไว้ในระยะยาวและการบริหารจัดการความท้าทายข้างต้น ได้จะช่วยเป็นบันไดก้าวแรกๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนายุทธศาสตร์ เพื่อไปสู่ในทิศทางของรัฐสวัสดิการได้อย่างเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต

ความท้าทายเมื่อไทยอยากเป็น รัฐสวัสดิการ

ทัศนะ คิดอนาคต
ธนพร เสวกวัง, กษิดิศ สุรดิลก
สถาบันอนาคตไทยศึกษา 
Facebook.com/thailandfuturefoundation