ขสมก. ใต้ปีก ‘ศักดิ์สยาม’ ขาดทุนต่อเนื่อง - คนร.จี้ปรับแผน

ขสมก. ใต้ปีก ‘ศักดิ์สยาม’ ขาดทุนต่อเนื่อง - คนร.จี้ปรับแผน

แผนฟื้นฟู ขสมก.ยังติดหล่ม หลัง คนร.จี้ปรับปรุงให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน ผลงาน 4 ปียังไม่คืบหน้า พอกหนี้สินเพิ่มกว่า 1.32 แสนล้านบาท

นับตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้การกำกับดูแลของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำหนดหนึ่งในนโยบายเร่งแก้ปัญหาองค์กรขาดทุนที่อยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีการตั้งเป้าโจทย์สำคัญสู่การล้างภาระหนี้สะสมกว่า 1.3 แสนล้านบาท พร้อมพัฒนาบริการผ่านการจัดหารถโดยสารพลังงานทางเลือกมาให้บริการ

แต่ขณะที่ปัจจุบันแผนฟื้นฟู ขสมก.ยังอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวน (ร่าง) แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) ตามมติของคณะอนุกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มอบหมายให้ ขสมก.ปรับปรุงแผนดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งปัจจุบัน ขสมก.ยังไม่สามารถที่จะพลิกฟื้นสถานะขององค์กรให้กลับมามีกำไรได้ และต้องมีการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทุกปี

ขณะเดียวกันในปีงบประมาณ 2566 ขสมก.ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่องประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 7,516.909 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และกำหนดวิธีการกู้เงิน และรายละเอียดต่างๆ

โดยมีเหตุผลของการขออนุมัติการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เนื่องจาก ขสมก.ประสบภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง และขาดสภาพคล่องทางการเงิน รวมทั้งไม่ได้รับเงินชดเชยผลการขาดทุนตามจำนวนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ ขสมก.เก็บค่าโดยสารตามอัตราที่ภาครัฐกำหนด แต่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานในระยะ 4 ปี ของการบริหารภายใต้ปีกของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะพบว่าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูของ ขสมก.ในช่วงดังกล่าว อาจเรียกว่ายังไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งรายละเอียดดังนี้

ผลการดำเนินงานในปี 2562

  • หนี้สินรวม 11,677.09 ล้านบาท
  • กำไร (ขาดทุน) สะสม 124,327.26 ล้านบาท
  • รายได้จากการดำเนินงาน 4,572.76 ล้านบาท
  • รายได้รวม (รวมได้อื่นๆ) 7,028.35 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายรวม 14,630.87 ล้านบาท
  • ขาดทุนสุทธิ 7,602.52 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานในปี 2563

  • หนี้สินรวม 127,187.06 ล้านบาท
  • กำไร (ขาดทุน) สะสม 128,554.30 ล้านบาท
  • รายได้จากการดำเนินงาน 3,799.10 ล้านบาท
  • รายได้รวม (รวมได้อื่นๆ) 8,611.11 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายรวม 12,838.16 ล้านบาท
  • ขาดทุนสุทธิ 4,227.05 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานในปี 2564

  • หนี้สินรวม 132,341.38 ล้านบาท
  • กำไร (ขาดทุน) สะสม 133,289.24 ล้านบาท
  • รายได้จากการดำเนินงาน 32,517.81 ล้านบาท
  • รายได้รวม (รวมได้อื่นๆ) 7,744.79 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายรวม 12,479.72 ล้านบาท
  • ขาดทุนสุทธิ 4,734.93 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2565 ปัจจุบัน ขสมก.ยังไม่มีรายงาน ซึ่งคงต้องเอาใจช่วยในการเร่งหารายได้จากส่วนอื่นนอกเหนือจากการเดินรถเข้ามาเสริม เนื่องจากรายงานสถานการณ์ปัจจุบันตามอ้างอิงจากสาเหตุความจำเป็นที่ ขสมก.ต้องขอกู้เงินในรอบปีงบประมาณ 2566 ก็ชี้ให้เห็นว่ารายได้จากการเดินรถ ซึ่งเป็นรายได้หลักของ ขสมก.ยังไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้

อีกทั้งคงต้องเอาใจช่วยถึงการปรับร่างแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ว่าจะสามารถตอบโจทย์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้หรือไม่ โดยเบื้องต้นพบว่า ขสมก.ได้นำเสนอแผนขับเคลื่อนกิจการองค์การ (BMTA Moving Plan) ต่อกระทรวงคมนาคม โดยมุ่งเน้นการเป็นองค์การยุคใหม่เพื่อการเดินทางที่สร้างความพอใจให้แก่ทุกคน ภายใต้คอนเซ็ปต์ B : Better พอใจ M : Modern ใหม่ T : Transport เดินทาง และ A : for All เพื่อทุกคน ประกอบด้วย ประเด็นการจัดทำแผนฟื้นฟู 6 ด้าน ได้แก่

1. สภาพรถโดยสาร โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารสัญญาซ่อมบำรุงรถโดยสาร การจัดหารถโดยสารที่มีขนาดเหมาะสมมาให้บริการ การปรับปรุงสภาพรถ (Refurbish) ให้พร้อมใช้บริการ และการเปลี่ยนรถโดยสาร (Conversion) เป็นรถพลังงานไฟฟ้า

2. ระบบบริหารจัดการ โดยการบริหารต้นทุนการจัดเก็บค่าโดยสาร การปรับเส้นทางเดินรถให้มีความสอดคล้องกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้า การรับสมัครพนักงานที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปแบบพนักงานประจำและพนักงานสัญญา การปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความกระชับ การจัดทำแผนดำเนินงานที่มีส่วนร่วมจากหลากหลายหน่วยงาน รวมทั้งการสร้างการยอมรับการเป็นองค์กรบริการสาธารณะที่มุ่งเน้นการให้บริการ

3. ภาพลักษณ์ โดยการประชาสัมพันธ์ การเปิดให้ประชาชนแบ่งปันประสบการณ์ตรงจากการใช้บริการ รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับบุคลากรในองค์การเพื่อเสริมสร้างเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์การ

4. เทคโนโลยี โดยการมุ่งเน้นการใช้งานเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม การพัฒนา Application ของ ขสมก. การสร้างฐานข้อมูลลูกค้าและผู้โดยสาร (Customer Persona) และการเร่งเพิ่มสัดส่วนการใช้งานบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์

5. แหล่งรายได้อื่น โดยการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรายเดือน และเร่งรัดการเพิ่มรายได้จากการใช้ประโยชน์ที่ดินเชิงพาณิชย์ สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น อู่บางเขน อู่มีนบุรี เป็นต้น

6. แหล่งเงินทุน โดยมีรูปแบบการจัดหารถที่มีความหลากหลาย เช่น การซื้อ การเช่า การจ้างวิ่ง การให้บริการของรถร่วมบริการ การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม (PPP) ซึ่ง ขสมก.จะได้เร่งจัดทำรายละเอียดแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ต่อไป