มหากาพย์มอเตอร์เวย์ ‘บางปะอิน - โคราช’ ปรับแบบเพิ่มงบ 6.7 พันล้าน

มหากาพย์มอเตอร์เวย์ ‘บางปะอิน - โคราช’ ปรับแบบเพิ่มงบ 6.7 พันล้าน

กรมทางหลวงเร่งปิดจ็อบมหากาพย์มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน - นครราชสีมา เตรียมเปิดทดลองวิ่ง ช่วงปากช่องถึงทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา 80 กิโลเมตรในปลายปีนี้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติวงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มเติม ในส่วนงานโยธา โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา เพิ่มเติมจำนวน 12 ตอน วงเงิน 4,970 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์โครงการลงทุนภาครัฐที่ผิดไปจากแผน ล่าช้าจากเป้าหมายเดิมที่จะแล้วเสร็จในปี  2563 แต่ผลจากการออกแบบโครงการที่ไม่อัพเดตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้รัฐต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติมในการออกแบบ การก่อสร้าง และที่สำคัญประชาชนเสียโอกาสจากการใช้บริการล่าช้าออกไป

อีกทั้งโครงการมอเตอร์สายนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งโครงการที่วนเวียนผลักดันเข้า ครม.เพื่อพิจารณาขอความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ มาแล้วรวม 10 ครั้ง ดังนี้

14 ก.ค.2558 ครม.มีมติอนุมัติให้กรมทางหลวงดำเนินโครงการในวงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท

8 มี.ค.2559 ครม.มีมติเห็นชอบการปรับแผนดำเนินโครงการ จากเดิมใช้แหล่งเงินกู้ปรับเป็นให้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 – 2563 วงเงินรวม 76,600 ล้านบาท

9 มิ.ย.2559 ครม.รับทราบการก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน - นครราชสีมา ตอนทางแยกต่างระดับสระบุรี ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร

2 ส.ค.2559 ครม.รับทราบการก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา รวม 3 ตอน

27 ก.ย.2559 ครม.รับทราบการก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา รวม 17 ตอน

25 ต.ค.2559 ครม.รับทราบการก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา รวม 4 ตอน

14 มี.ค.2560 ครม.รับทราบการก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา รวม 12 ตอน

11 เม.ย.2560 ครม.รับทราบการก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมาเพิ่มเติม

25 ก.ค.2560 ครม.รับทราบการก่อหนี้ผูกพันรายการใหม่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา รวม 2 ตอน

1 ส.ค.2560 ครม.อนุมัติให้กรมทางหลวงใช้งบกลางปี 2560 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 5,112 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 500 ล้านบาท

โดยจากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่ามอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา กรมทางหลวงได้เริ่มดำเนินงานก่อสร้างส่วนของงานโยธา มาตั้งแต่ปี 2559 โดยแบ่งงานออกเป็น 40 ตอน ซึ่งมีการรายงานในที่ประชุม ครม.ครั้งล่าสุดด้วยว่า ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จ 24 ตอน อยู่ระหว่างก่อสร้าง 16 ตอน สถานะปัจจุบัน ณ เดือน พ.ย.2565 มีแผนก่อสร้างรวม 89.67% ผลงานก่อสร้างรวม 87.67% ล่าช้ากว่าแผน 2% สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 6,630 ล้านบาท ได้ดำเนินการจ่ายครบถ้วนแล้ว

สำหรับสาเหตุของการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จนั้น และเป็นเหตุให้กรมทางหลวงต้องเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติเพิ่มวงเงินก่อสร้าง เนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคใน 4 ประเด็น ได้แก่

1. สภาพพื้นที่ในสนามที่ทำการก่อสร้างได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

2. ปรับปรุงรูปแบบทางวิศวกรรมให้สอดคล้องกับสภาพทางกายภาพของพื้นที่ในปัจจุบัน                           

3. ปรับรูปแบบให้เหมาะสมสอดคล้องกับโครงสร้างสาธารณูปโภค หรือความจำเป็นของหน่วยงานที่โครงการฯ ตัดผ่าน                    

4. ปรับรูปแบบการก่อสร้างเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่ และให้สอดคล้องกับโครงข่ายถนนที่ประชาชนใช้ทางในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องแก้ไขแบบก่อสร้าง ส่งผลให้ค่างานก่อสร้างเพิ่มขึ้น

โดยจากการขออนุมัติเพิ่มวงเงินครั้งนี้ ทำให้วงเงินค่าก่อสร้าง รวม 40 ตอน เพิ่มขึ้นจากเดิม รวมเป็นจำนวนเงิน 66,165 ล้านบาท แต่ยังต่ำกว่ากรอบวงเงิน 69,970 ล้านบาท  ตามมติ ครม.ที่เห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2559 ขณะที่งานก่อสร้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน วงเงินประมาณ 1,785 ล้านบาทนั้น กรมทางหลวงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบรายละเอียดทั้งในส่วนของเนื้องาน และความรับผิดชอบของบริษัทผู้รับจ้างคู่สัญญาให้มีความละเอียดรอบคอบ

ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะเร่งรัดเดินหน้าการก่อสร้างงานโยธาในส่วนที่เหลือให้สามารถเปิดทดลองให้บริการได้โดยเร็วที่สุด โดยคาดว่าจะสามารถเปิดทดลองวิ่ง ช่วงปากช่องถึงทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร ในช่วงปลายปี 2566 รวมถึงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุนการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) เพื่อเร่งรัดงานติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง M-FLOW ระบบบริหารควบคุมการจราจร โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบระบบ พร้อมทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ในปี 2567 และเปิดใช้บริการเส้นทางอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 ต่อไป