‘รัฐวิสาหกิจ’ กับ ‘ผู้นำคนใหม่’ ในวันที่ 'การเมืองไทย' กำลังเปลี่ยนแปลง

‘รัฐวิสาหกิจ’ กับ ‘ผู้นำคนใหม่’  ในวันที่ 'การเมืองไทย' กำลังเปลี่ยนแปลง

ปี 2566 เป็นปีที่น่าจับตามองในแง่ของการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้นำ” ไม่เพียงจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ยังมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่หลายองค์กร ทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน รวมทั้งองค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจ

ในทางเศรษฐกิจรัฐวิสาหกิจถือเป็นหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้การแปลงนโยบายของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ ทั้งในแง่ของการขับเคลื่อนการลงทุน และการให้ความช่วยเหลือประชาชน การออกมาตรการต่างๆ เช่น การลงทุนตามแผนงานของรัฐวิสาหกิจที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต

ขณะเดียวกันหากเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันทางการเงินรัฐบาลก็มักจะขอความร่วมมือในการออกมาตรการต่างๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน รวมทั้งร้องขอให้สำรองจ่ายเงินบางโครงการไปก่อนแล้วรัฐชดเชยเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยในภายหลัง

ในทางปฏิบัติ “รัฐบาล” และ “รัฐวิสาหกิจ” จึงมีการทำงานร่วมกันอยู่มาก บ่อยครั้งมีการเชื่อมโยงกันในการแต่งตั้งบุคคลจากฝ่ายการเมือง

ในปี 2566 ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มีรัฐวิสาหกิจอย่างน้อย 6 แห่งที่มาถึงห้วงเวลาในการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารสูงสุด หรือคนที่เป็น “เบอร์ 1 ขององค์กร” ซึ่งบางแห่งได้มีการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่แล้วตั้งแต่ต้นปี บางแห่งอยู่ระหว่างการสรรหาคัดเลือกผู้บริหารสูงสุดรายใหม่ และบางองค์กรมีกำหนดที่จะต้องสรรหาผู้บริหารคนใหม่ในปีนี้

“กรุงเพทธุรกิจ” รวบรวมรัฐวิสาหกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารสูงสุดขององค์กรในปี 2566 โดยแบ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีการแต่งตั้งผู้บริหารคนใหม่แล้วในปีนี้ รัฐวิสาหกิจที่อยู่ระหว่างสรรหาผู้บริหารสูงสุด และหน่วยงานที่ผู้บริหารสูงสุดจะหมดวาระในปีนี้ซึ่งต้องเริ่มกระบวนการสรรหาผู้นำคนใหม่ในไม่ช้า ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ  โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

1.รัฐวิสาหกิจที่มีการแต่งตั้งผู้บริหารคนใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในกลุ่มนี้ได้รับการอนุมัติจากกรรมการบริหาร และกระทรวงต้นสังกัด บางคนได้เริ่มทำงานแล้ว บางคนอยู่ระหว่างรอปฏิบัติงานตามสัญญาการทำงาน โดยตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบันรัฐวิสาหกิจที่มีการแต่งตั้งผู้บริหารคนใหม่แล้ว 4 แห่ง ได้แก่

‘รัฐวิสาหกิจ’ กับ ‘ผู้นำคนใหม่’  ในวันที่ \'การเมืองไทย\' กำลังเปลี่ยนแปลง

1) กีรติ  กิจมานะวัฒน์ ได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “บอร์ด ทอท.” ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.คนใหม่ ต่อจาก นิตินัย ศิริสมรรถการ ที่จะหมดวาระในเดือนเมษายนปีนี้

 

‘รัฐวิสาหกิจ’ กับ ‘ผู้นำคนใหม่’  ในวันที่ \'การเมืองไทย\' กำลังเปลี่ยนแปลง

2)ชาย เอี่ยมศิริ  ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566  โดยรับมอบตำแหน่งจาก  สุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีภารกิจสำคัญในการสานต่อแผนฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย เพื่อให้การบินไทยกลับมาสร้างกำไรอย่างยั่งยืน

‘รัฐวิสาหกิจ’ กับ ‘ผู้นำคนใหม่’  ในวันที่ \'การเมืองไทย\' กำลังเปลี่ยนแปลง

3)ฉัตรชัย ศิริไล  ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (บอร์ด ธ.ก.ส.) ที่มี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังเป็นประธาน โดยที่แต่งตั้งให้ฉัตรชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเริ่มทำงานในตำแหน่งใหม่ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

และ 4) ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ สรรหาผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) หรือ “อิสลามแบงก์” ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

2.รัฐวิสาหกิจที่อยู่ระหว่างดำเนินการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กร มีหนึ่งแห่งคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ กฟผ.แทน บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ที่จะหมดวาระ 21 ส.ค.ปี 2566

นันธิกา ทังสุพานิช ประธานกรรมการสรรหาผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผย ว่า กฟผ.ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้สมัครเป็นรองผู้ว่าการ กฟผ.เข้ารับการคัดเลือก ซึ่งมีคุณสมบัติเบื้องต้นเป็นไปตามประกาศ จำนวนทั้งสิ้น 4 ราย ได้แก่

- เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่

- ทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน

- นิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง

- จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

สำหรับขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการสรรหาฯ จะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครโดยละเอียด และเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือก โดยให้ผู้สมัครแสดงวิสัยทัศน์และเข้ารับการสัมภาษณ์ ก่อนสรุปผลการคัดเลือกและเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมต่อคณะกรรมการ กฟผ. เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

‘รัฐวิสาหกิจ’ กับ ‘ผู้นำคนใหม่’  ในวันที่ \'การเมืองไทย\' กำลังเปลี่ยนแปลง

และ 3.รัฐวิสาหกิจที่จะต้องมีการสรรหาผู้นำสูงสุดคนใหม่ในปี 2566 แทนผู้นำคนเดิมที่หมดวาระ ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เนื่องจากยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่า ททท.คนปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 31 ส.ค.2566

 

น่าสนใจว่าในระยะต่อไป เมื่อคลื่นลมการเปลี่ยนแปลงทางการการเมืองสงบลง จะมีการเปลี่ยนแปลงเก้าอี้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้น เพื่อสนองต่อ “งานทางการเมือง” เหมือนในอดีตหรือไม่ ต้องจับตามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด