คลังชี้ 'ร่วมใจแก้หนี้' ผลตอบรับดีเกินคาด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก

ตามที่กระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ จัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” (งานมหกรรมฯ) ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขและการปรับโครงสร้างหนี้สินของประชาชนและผู้ประกอบการเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและทั่วถึง สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการสร้างรายได้เพิ่มเติมและการสร้างความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้การแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ ผลของการจัดงานมหกรรมฯ ประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงการคลัง (นายชื่นชอบ คงอุดม) ได้ชี้แจงรายละเอียดดังนี้

1. ผลการจัดงานมหกรรมฯ รูปแบบสัญจร จำนวน 5 ครั้ง ในกรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลา มีประชาชนและผู้ประกอบการขอรับบริการภายในงานเป็นจำนวนมากกว่า 34,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ จำนวนมากที่สุด 13,000 รายการ รองลงมา คือ การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมมากกว่า 10,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 10,000 ล้านบาท การขอสินเชื่อเพิ่มเติมมากกว่า 4,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 8,000 ล้านบาท และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิตโดย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การแนะแนวอาชีพโดยสำนักงานจัดหางาน การขอคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาชุมชน การจำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น จำนวนประมาณ 7,000 รายการ
2. ผลการจัดงานมหกรรมฯ รูปแบบออนไลน์ มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้นมากกว่า 188,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 413,000 รายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลร้อยละ 35 ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 31 และภาคอื่น ๆ ร้อยละ 34 ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 75 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ร้อยละ 6 สินเชื่อรายย่อยอื่นร้อยละ 5 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 4 และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ร้อยละ 10

ถึงแม้ว่าการจัดงานมหกรรมฯ จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีแนวทางการดำเนินการ
ในระยะต่อไป ดังนี้
1. มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งสนับสนุนให้สถาบันการเงินแก้ไขปัญหาหนี้สินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียวเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริงและคำนึงถึงภาระของลูกหนี้ตลอดสัญญา ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินมาตรการถึงสิ้นปี 2566 นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้กำหนดให้การดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง
2. ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางเสริมออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้แต่ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้หรือติดต่อแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ (2) หมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจ SMEs และ (3) คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน 
3. ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเผยแพร่เอกสารทิศทาง (Directional Paper) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยเอกสารดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่เดิม และการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพในลักษณะการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) รวมถึงการวางรากฐานที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลให้มีข้อมูลหลากหลาย สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้ การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน (Responsible Borrowing) เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” จะจบลงแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยลูกหนี้ที่ประสบปัญหาหนี้สินสามารถติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ที่สาขาของสถาบันการเงินทุกแห่งทั่วประเทศ หรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการทางด่วนแก้หนี้ โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน หรือ โครงการคลินิกแก้หนี้ ได้ตลอดเวลา”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
1. สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โทร. 02 202 1868 หรือ 02 202 1961
2. ธนาคารออมสิน โทร. 02 299 8000 หรือสายด่วน 1115
3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555
4. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 02 645 9000
5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร. 02 265 3000 หรือสายด่วน 1357
6. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร. 02 169 9999
7. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร. 02 650 6999 หรือสายด่วน 1302
8. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร. 02 890 9999
9. โครงการทางด่วนแก้หนี้ และโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โทร. 1213 หรือ www.1213.or.th/app/debtcase หรือ ทาง Line @doctordebt
10. โครงการคลินิกแก้หนี้ โทร. 1443 หรือ www.คลินิกแก้หนี้.com หรือ www.debtclinicbysam.com หรือ  Line @debtclinicbysam