'EEC’ ปลดล็อกไฮสปีด - สนามบินอู่ตะเภา ชงแก้สัญญา - ปรับแผนชำระเงิน

'EEC’ ปลดล็อกไฮสปีด - สนามบินอู่ตะเภา ชงแก้สัญญา - ปรับแผนชำระเงิน

สกพอ.ปลดล็อกสัญญา 2 เมกะโปรเจ็กต์ เอกชนห่วงความเสี่ยงหลังวิกฤติโควิด “อู่ตะเภา” ขอเพิ่มเงื่อนไขรับมือความเสี่ยงในอนาคต ปรับผ่อนจ่ายผลตอบแทนรัฐ รักษาสภาพคล่อง ไม่กระทบผลตอบแทนรัฐ 3.3 แสนล้าน “รถไฟความเร็วสูง” แก้สัญญาฯ แลกลงทุนสร้างช่วงทับซ้อนรถไฟไทยจีน รอชง กพอ.

การขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีโครงสร้างพื้นฐานหลักที่ลงนามสัญญาร่วมลงทุนแล้วและติดปัญหาการดำเนินงานทำให้เริ่มก่อสร้างยังไม่ได้ ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องเข้าไปดำเนินการแก้ไข 2 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงินร่วมลงทุน 204,240 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ลงนามกับบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563

2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงินร่วมลงทุน 276,938 ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงนามกับบริษัทเอเชีย เอราวัน จำกัด เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้ทั้ง 2 โครงการ ล่าช้าและยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ เพราะภาคเอกชนมีปัญหาติดขัดเกี่ยวกับสัญญาร่วมลงทุน โดยภาคเอกชนได้อ้างผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง และสถานการณ์ดังกล่าวมีผลต่อการขับเคลื่อนโครงการ

แหล่งข่าว กล่าวว่า ผลกระทบดังกล่าวทำให้มีการยื่นข้อเสนอถึง สกพอ.เพื่อขอแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสัญญาร่วมลงทุน โดยทั้ง 2 โครงการ เป็นการลงทุนในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (PPP) ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องหารือถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงต่อโครงการที่เพิ่มขึ้น

“จากสถานการณ์โควิด-19 ภาคเอกชนได้เห็นถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่จะกระทบกับรายได้ของโครงการในระยะต่อไป จึงขอให้แก้ไขสัญญาร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้” แหล่งข่าวระบุ

\'EEC’ ปลดล็อกไฮสปีด - สนามบินอู่ตะเภา ชงแก้สัญญา - ปรับแผนชำระเงิน

อู่ตะเภาขอผ่อนผันจ่ายรัฐ

 ทั้งนี้ บริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด ผู้รับสิทธิการพัฒนาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้เสนอมาที่ สกพอ.เพื่อขอปรับการจ่ายเงินผลตอบแทนให้กับภาครัฐ โดยกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันสุดวิสัยให้เอกชนสามารถขอให้ขอผ่อนผันการจ่ายรายได้ให้กับภาครัฐตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญา เพื่อรักษาสภาพคล่องเอาไว้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ (Operation cost) ภายในสนามบินก่อน

อย่างไรก็ตามการปรับการชำระเงินแก้ไขสัญญานี้จะไม่กระทบกับรายได้และผลตอบแทนที่ภาครัฐจะได้จากโครงการจะไม่ลดลงจากเดิม นอกจากนี้กรณีที่มีการจ่ายเงินให้กับภาครัฐล่าช้านั้น ภาครัฐต้องได้รับผลประโยชน์เพิ่มเติมในรูปของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนอื่นให้กับภาครัฐ

นอกจากนี้ในสัญญาปัจจุบันกำหนดให้เอกชนจ่ายผลตอบแทนให้รัฐในรูปเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่าและส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรวม 305,555 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายรายปีในช่วงสัญญา 50 ปี ซึ่งการจ่ายเงินให้รัฐจะพิจารณาว่าเงินส่วนใดสูงกว่ากันให้จ่ายเงินส่วนนั้น เทียบกันระหว่างเงินประกันผลตอบแทนค่าเช่ากับเงินส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำ

ส่วนเงินประกันค่าเช่าในช่วง 50 ปี แบ่งเป็น ช่วง 3 ปีแรก จ่ายค่าเหมาจ่ายค่าเช่าที่ดินช่วงพัฒนาโครงการปีละ 300 ล้านบาท และหลังจากนั้นในปีที่ 4 จ่าย 1,300 ล้านบาท ซึ่งจำนวนเงินที่จ่ายจะเพิ่มขึ้นทุกปีเป็นส่วนใหญ่และยกเว้นบางปีที่จ่ายลดลงหรือคงที่ และในปีที่ 50 จะจ่ายที่ 84,000 ล้านบาท รวม 50 ปี จ่าย 305,555 ล้านบาท

ติดปัญหางบสร้างรันเวย์ที่2

สำหรับความคืบหน้าในปัจจุบันปัจจุบันอยู่ขั้นตอนเตรียมส่งมอบพื้นที่ 6,500 ไร่ ให้เอกชน และหลังจากนั้น สกพอ.จะดำเนินการแจ้งเอกชนให้เริ่มต้นงานก่อสร้าง โดยการพัฒนาแบ่งเป็น 4 ระยะ ถึงปี 2598 และในระยะที่ 1 มีกำหนดเสร็จปี 2567 แต่ล่าช้ากว่าแผนแล้ว โดยในช่วงนี้จะพัฒนาเพื่อรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 15.9 ล้านคน พัฒนาอาคารผู้โดยสาร 157,000 ตารางเมตร รวมทั้งมีพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถและศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน

ขณะที่การสร้างรันเวย์ที่ 2 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องแหล่งเงิน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งรัดการจัดหาแหล่งเงินกู้ให้กองทัพเรือ 16,304 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้าง เพราะกองทัพเรือไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามที่ขอผูกพันไว้ระหว่างปี 2565-2568

แก้ไขสัญญาไฮสปีด4ประเด็น

สำหรับการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2564 เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 โดยล่าสุดได้สรุปประเด็นที่จะเสนอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน 4 ประเด็น ประกอบด้วย

1.การให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระค่าใช้สิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท 

2.การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

3.การส่งมอบพื้นที่โครงการ ตามแผนที่กำหนดไว้ 3 ระยะ คือ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, ช่วงพญาไท-บางซื่อ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์พญาไท-สุวรรณภูมิ 

4.การตีความพื้นที่ลำรางสาธารณะบริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน

ทั้งนี้ ส่วนสำคัญของข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน คือ การแก้ไขประเด็นการชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลลิงก์ ซึ่งสัญญาปัจจุบันกำหนดให้ชำระงวดเดียว 10,671 ล้านบาท ส่วนสัญญาใหม่ แบ่งการชำระออกเป็น 7 ปี โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 1,067 ล้านบาท และงวดที่ 7 ชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย

รัฐจ่ายค่าก่อสร้างไฮสปีดเร็วขึ้น

อีกประเด็นสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟไทย-จีน (สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง) โดยสัญญาใหม่กำหนดให้เอกชนลงทุนงานโยธาช่วงทับซ้อน วงเงิน 9,207 ล้านบาท และต้องสร้างให้เสร็จภายในเดือน ก.ค.2569 ซึ่งประเด็นนี้นำมาสู่การแก้ไขสัญญาในส่วนที่เกี่ยวข้องการชำระเงินค่าก่อสร้างให้เอกชนตามเงื่อนไขการลงทุนรูปแบบ PPP net cost

รวมทั้งจะทำให้ภาครัฐไม่ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม และจะทำให้การเดินมีความต่อเนื่องไปถึงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยการกำหนดความเร็วช่วงทับซ้อนบางซื่อ-ดอนเมือง ยังคงเป็นไปตามมาตรฐานเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีน

นอกจากนี้ ร่างสัญญาใหม่กำหนดให้ภาครัฐชำระเงินค่าก่อสร้างให้ภาคเอกชนเร็วขึ้นเป็นเดือนที่ 21 จากเดิมที่จ่ายเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จหรือในปีที่ 6 โดยมีการลดระยะเวลาที่รัฐจ่ายค่าก่อสร้างจาก 10 ปี เป็น 7 ปี ซึ่งภาคเอกชนจะลดผลตอบแทนโครงการจาก 5.52% เหลือ 5.24% และจะทำให้ภาครัฐชำระเงินร่วมลงทุนอยู่ที่ 133,475 ล้านบาท รวมทั้งจะทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณ 26,000 ล้านบาท

เร่งเสนอ กพอ.ภายในเดือนนี้

แหล่งข่าว กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาร่วมลงทุนทั้ง 2 โครงการ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี ที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานแล้ว รวมทั้งผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานแล้ว 

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะเสนอร่างแก้ไขสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาอนุมัติภายในเดือน ก.พ.2566 ก่อนที่จะเสนอ ครม.