อย่าไว้ใจ “เงินเฟ้อ” ชะลอตัวลง

อย่าไว้ใจ “เงินเฟ้อ” ชะลอตัวลง

แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะดูชะลอตัวลง ก็อย่าเพิ่งไว้ใจ เพราะยังมีปัจจัยลบคอยก่อกวนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ หากเกิดขึ้นแบบฉุกละหุก ไม่ทันตั้งตัว เศรษฐกิจโดยรวมอาจไม่ดีเหมือนที่คาด ทั้งยังต้องระวังประเด็นเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอยลงเรื่อยๆ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ม.ค.2565 เท่ากับ 108.18 เทียบกับ ธ.ค.2565 เพิ่มขึ้น 0.30% เทียบกับเดือน ม.ค.2565 เพิ่มขึ้น 5.02% ชะลอตัวลงจากเดือน ธ.ค.2565 ที่สูงขึ้น 5.89% และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2565 ตามการชะลอตัวของราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหาร

ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศก็ปรับตัวดีขึ้น จากภาคการท่องเที่ยว เทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน ส่งผลให้การใช้จ่ายคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา

ส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2565 และเพิ่มขึ้น 3.04% เมื่อเทียบกับ ม.ค.2565 เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 3.04% ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้น 3.23% ตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง เงินเฟ้อในเดือนนี้ (ม.ค.) ที่เริ่มชะลอตัวลง มาจากราคาน้ำมัน เพราะเงินเฟ้อที่ 5.02% ในเดือนนี้ มีสัดส่วนของน้ำมันไปเกือบ 1% ดังนั้น เมื่อน้ำมันลด เงินเฟ้อก็ลดลงตาม

ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ก.พ.2566 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราลดลง และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี ยกเว้นจะมีสถานการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้นเหมือนปีที่ผ่านมาที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อต้องจับตาดูสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังสูง ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นใช้จ่ายของภาครัฐ

หากมองภาพใหญ่ เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้ความต้องการบริโภคโดยรวม และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก เงินเฟ้อทั้งปียังคงคาดการณ์ 2-3% ค่ากลาง 2.5% ภายใต้สมมติฐาน จีดีพีขยายตัว 3.0-4.0% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ ยกเว้นมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

ดังนั้น แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อจะดูชะลอตัวลง ก็อย่าเพิ่งไว้ใจ เพราะยังมีปัจจัยลบคอยก่อกวนอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ หากเกิดขึ้นแบบฉุกละหุก ไม่ทันตั้งตัว เศรษฐกิจโดยรวมอาจไม่ดีเหมือนที่คาด ทั้งยังต้องระวังประเด็นเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอยลงเรื่อย ๆ

ปัญหาโลกที่ยังต้องแก้ทั้งความขัดแย้ง ปมภูมิรัฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำต่างๆ การกีดกันทางการค้าที่ยังเป็นประเด็นสำคัญ อาจเป็นชนวนอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจโลกแบบกู่ไม่กลับ ประเทศไทยจึงต้องตั้งรับให้ดี และอย่าประมาท...