‘หมู’ ราคาตก เกษตรกรจี้รัฐเร่งแก้ปัญหา

เกษตรกรเลี้ยงสุกรเดือดร้อนหนัก ต้องแบกรับต้นทุน หลังราคาสุกรหน้าฟาร์มตกต่ำ สาเหตุมาจากการนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศเพื่อนบ้าน วอนภาครัฐเร่งช่วยเหลือ

ที่สมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลปรางหมู่ อ เมือง จังหวัดพัทลุง นายสำรอง รักชุม พร้อมด้วย นายภักดิ์ ชูขาว และ นายเฉลิมพล มานันตพงค์ ตัวแทนกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดพัทลุง เร่งหารือ พร้อมเรียกร้องให้รัฐช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อน หลังประสบปัญหาต้องแบกรับต้นทุนในการผลิต ขณะที่ราคาสุกรหน้าฟาร์มตกต่ำเหลือเพียง กก.ละ80 บาท และมีแนวโน้มดิ่งลงอีก ถึง 70 บาท

นายสำรอง ฯ แกนนำผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ในภาคใต้มีผู้เลี้ยงสุกรทั้งหมด ว่า 15,000 ราย จังหวัดพัทลุง เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีผู้เลี้ยงสุกร มากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ มีจำนวนผู้เลี้ยงกว่า 4,000 รายรองจากจังหวัดนครศรีธรรมราช จากเดิมเกษตรกรขายสุกรหน้าคอกในต่อ กก. ราคา 92 บาท ล่าสุด ลดลงอยู่ที่ราคา 80 – 85 บาท ต่อ กก.และมีแนวโน้มลดลงอีกจนถึงราคา กก.ละ 70 บาท ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก ปัญหา มีการลักลอบนำเนื้อสุกรกล่องจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาขายในประเทศไทยในราคาถูก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ บวกกับสุกรไทยยังไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น,รัชเซีย, สิงคโปร์ และ ฮ่องกงหลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จนมีผลกระทบกับการส่งออก ทำให้มีการผูกขาดตลาดเฉพาะของบริษัทยักษ์ใหญ่ ถูกแทรกแซงทั้งเนื้อสุกรที่นำเข้าโดยผิดกฎหมาย ยังต้องมาแบกรับต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าวัตถุดิบในการผลิตอาหาร และราคาค่าไฟฟ้าที่จำเป็นต้องใช้ในฟาร์ม ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาปรับเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่าตัว ทำให้เกษตรกรต่างได้รับความเดือดร้อน
 
ด้านกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร จึงได้ส่งตัวแทนเรียกร้องรัฐบาลให้เข้ามาช่วยเหลือ โดยเร่งแก้ปัญหาทั้งขบวนการลักลอบนำเนื้อสุกรกล่องจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาในไทยอย่างจริงจัง เพราะนอกเหนือจากทำให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มดิ่งลงแล้ว ยังเสี่ยงกับปัญหาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย
 
และขอให้รัฐได้ปลดล็อกการส่งออกสุกรไทย เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร มีที่ว่างในการจำหน่ายสุกร เพราะปริมาณสุกรมีมากเกินกว่าการบริโภคในประเทศแล้วเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ส่งออกไม่ได้ สินค้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็ต้องขายในประเทศ จนทำให้ผูกขาดจนกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ที่เหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นของจำนวนผู้เลี้ยงทั้งหมด
 
นอกจากนั้นแล้วตัวแทนเกษตรกรยังได้เรียกร้องให้รัฐได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องพลังงานทดแทน ระบบโซลาเซลล์ พลังงานจากแสงอาทิตย์ หลังจากที่เกษตรกรต้องแบกรับราคาค่าไฟ ที่ต้องใช้ในคอกเลี้ยงสุกรเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่าตัว โดยเฉพาะในเรื่องขององค์ความรู้และงบประมาณ สนับสนุนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร อาจจะไม่ต้องทั้งหมด 40 หรือ 50 เปอร์เซ็น ในการติดตั้ง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น.