บสย. ใช้ดิจิทัล เทคโนโลยีเจาะเอสเอ็มอี

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แถลงข่าวภาพรวมปี 2565 พร้อมชูยุทธศาสตร์และทิศทางการดำเนินงานปี 2566 พุ่งเป้ายกระดับการเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ด้วย Digital Technology เข้าถึงง่าย และช่วยแก้หนี้ เพื่อให้ลูกหนี้อยู่รอด อยู่ได้ อย่างยั่งยืน

วันนี้ (1 ก.พ.66) นายสิทธิกร ดิรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ได้แถลงข่าวภาพรวมในปี 2565 ที่ผ่านมาว่า บสย. มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ช่วยผู้ประกอบการSMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด- 19 ในทุกมิติ ทั้งด้านการสนับสนุนแหล่งทุน ด้านการแก้วิกฤติหนี้ และการให้ความรู้ทางการเงิน รวมถึงมาตรการสนับสนุนต่างๆ  โดยในปีที่ผ่านมา บสย.ได้ อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 143,998 ล้านบาท ช่วย SMES เข้าถึงสินเชื่อ รวม 82,747 ราย สร้างสินเชื่อในระบบ 157,919 ล้านบาท รักษาการจ้างงานรวม 1,042,787 ตำแหน่ง สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 594,712 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อต่างๆ 

สำหรับกลุ่มธุรกิจ 10 ลำดับ ค้ำประกันสูงสุด   ลำดับที่ 1 คือ ภาคบริการ 27%  ลำดับที่ 2 ภาคเกษตรกรรม 11% ลำดับที่ 3 การผลิตสินค้าและการค้า 11%

ในส่วนของด้านการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMES หรือ บสย. F.A Canter มียอดรวมทั้งสิ้น 11,213 ราย โดย 64% มีความต้องการปรึกษาขอสินเชื่อ คิดเป็นวงเงินความต้องการสินเชื่อจำนวน 12,827 ล้านบาท ขณะที่โครงการ "หมอหนี้เพื่อประชาชน" โดย บสย. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย มีผู้ลงทะเบียนรับคำปรึกษา จำนวน 5,999 ราย โดย 80% มีความต้องการขอปรับโครงสร้างหนี้   ขณะที่ โครงการ "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" โดยกระทรวงการคลัง ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ จากการจัดงานรวม 5 ครั้ง มีผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ บสย. ร่วมกิจกรรม รวม 1,893 ราย ได้ช่วยลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ คิดเป็นภาระหนี้ 1,456 ล้านบาท เน้นบทบาทการช่วยแก้หนี้ เพื่อให้ลูกหนี้อยู่รอด อยู่ได้ อย่างยั่งยืน และกลับเป็นลูกหนี้ปกติ

สำหรับทิศทางการดำเนินงาน และยุทธศาสตร์ ปี 2566 บสย. พร้อมเดินเครื่องเต็มพิกัด ชูบทบาทการทำงาน แบบบูรณาการทั้งภายใน และภายนอกองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพ ทั้ง กองหน้า กองกลาง และกองหลัง  โดย บสย. ตั้งเป้ายอดค้ำประกันสินเชื่อ 120,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.) โครงการค้ำประกันสินเชื่อภายใต้การดำเนินการของ บสย. วงเงิน 70,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงิน B17 และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ RBP  คิดค่าธรรมเนียมตามความเสี่ยงของลูกค้า 2.) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ วงเงิน 50,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2  และยังบอกอีกว่ากลุ่มท่องเที่ยว เกษตร Supply Chain ฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์