ทำไมเศรษฐกิจโลกยังเสี่ยงถดถอย | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ทำไมเศรษฐกิจโลกยังเสี่ยงถดถอย | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในช่วงต้นปี สถานการณ์เศรษฐกิจโลกดูเหมือนจะดูดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐและทั่วโลกชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เกิดความหวังที่ Soft Landing หรือการชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเงินเฟ้อลดลงแต่การว่างงานไม่สูงขึ้น และเศรษฐกิจไม่เกิดภาวะถดถอย

เศรษฐกิจยุโรปดูดีขึ้นจากฤดูหนาวที่อบอุ่นทำให้ราคาพลังงานดิ่งลง ขณะที่เศรษฐกิจของจีนที่ดีขึ้น ผลจากการยกเลิกนโยบาย Zero COVID ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าเศรษฐกิจโลกรอดพ้นจากภาวะถดถอย โดยแม้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐจะตกลงต่อเนื่องในเดือน ธ.ค. (ล่าสุด Core PCE อยู่ที่ 4.4% ขณะที่ CPI อยู่ที่ 6.5%) เนื่องจากพลังงานและสินค้าที่ถูกลง

แต่เมื่อเงินเฟ้อลดลง เศรษฐกิจก็ชะลอลงเช่นกัน โดยยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงในเดือน ธ.ค. ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่วัดโดยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ Conference Board ก็ลดลงอย่างรวดเร็วเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วง 4 วิกฤติก่อนหน้า

ทำไมเศรษฐกิจโลกยังเสี่ยงถดถอย | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

หากพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ที่ Fed พิจารณาเป็นหลัก พบว่าชะลอตัวแรงสุดตั้งแต่ ต.ค. 2021 โดยเพิ่มขึ้น 4.4% จาก 4.7% ในเดือนก่อนช้าที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2021 ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคหดตัว -0.2% ต่อเดือน ต่อเนื่องจากเดือน พ.ย. ที่ -0.3%

เนื่องจากครัวเรือนสหรัฐลดการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลจับจ่ายช่วงวันหยุดและเพิ่มการออม โดยอัตราการออมส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเป็น 3.4% ในเดือน ธ.ค. จาก 2.9% ในเดือน พ.ย. เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มวิตกกังวลในอนาคต

ผู้เขียนมองว่า (1) เงินเฟ้อที่ชะลอต่อเนื่อง ท่ามกลางการใช้จ่ายผู้บริโภคที่ลดลง และการออมที่เพิ่มขึ้นแม้รายได้จะปรับเพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าประชาชนกังวลในสภาพเศรษฐกิจในอนาคต

ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession หรือไม่ จึงเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายและเริ่มเก็บออมอีกครั้ง ภาพนี้สอดคล้องกับยอดค้าปลีกที่เริ่มลดลงต่อเนื่อง

(2) หากพิจารณาดัชนี Core PCE เทียบกับดอกเบี้ยนโยบาย จะเห็นว่าในปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกันแล้ว และในแนวโน้มระยะต่อไป เงินเฟ้อ Core PCE มีแนวโน้มจะปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มต่อ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก 

ภาพนี้บ่งชี้ว่าจากนี้ไปนโยบายการเงินกำลังเข้าสู่ “ช่วงตึงตัว” หรือ Restrictive Zone ซึ่งในทุกครั้งที่เกิดภาวะเช่นนี้ เศรษฐกิจจะเริ่มมีแนวโน้มแย่ลง และนำไปสู่ภาวะ Recession ได้ทั้งสิ้น

ทำไมเศรษฐกิจโลกยังเสี่ยงถดถอย | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ทั้งช่วง (1) Dot-com Bubble Burst ก่อนปี 2001 (2) ก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปี 2006-2008 และ (3) ช่วง Late Cycle ก่อนเกิดวิกฤติโควิดในปี 2019 ดังนั้น ภาพเหล่านี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ Recession ที่อาจมาถึงในไม่ช้า

นอกจากนั้น หากพิจารณาในมิติผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐ อาจกล่าวได้ว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย (Earning Recession) แล้ว

ผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่ในไตรมาส 4 ออกมาแย่ลงทั้งสิ้นในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอินเทล บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ฮาสโบร บริษัทผลิตของเล่น อเมริกันเอ็กซ์เพรส บริษัทบัตรเครดิต

หรือ โกลด์แมนแซคส์ วานิชธนกิจสำคัญ ขณะที่สำนักวิจัยเครดิตสวิส คาดว่าผลประกอบการจะหดตัวเป็นครั้งแรกนับจากปี 2020

ด้วยภาพดังกล่าว จึงเห็นการปลดพนักงานออกต่อเนื่อง แต่อัตราการว่างงานของสหรัฐยังคงอยู่เพียง 3.5% และการขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งใหม่ก็ต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง

ด้านการเติบโตของค่าจ้างเริ่มลดลง แต่ยังคงอยู่ประมาณ 5% ขณะที่บางบริษัทยังต้องเพิ่มค่าจ้างขึ้นต่อเนื่อง เช่น Walmart กล่าวว่าจะเพิ่มค่าจ้างเริ่มต้นจาก 12 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงเป็น 14 ดอลลาร์ (หรือเพิ่ม 16%)

เมื่อรายได้ลดลง แต่ต้นทุน (ด้านแรงงาน) เพิ่มขึ้น บริษัทก็จะมี 2 ทางเลือก คือ (1) ขึ้นราคาสินค้าและบริการ (ซึ่งอาจเสี่ยงต่อยอดขายที่ลดลงต่อ) หรือ (2) ปลดคนงานออก 

ผู้เขียนเชื่อว่าบริษัทจะเลือกทั้งสองทางเลือก แต่อาจเลือกอย่างหลังมากกว่า ซึ่งจะทำให้รายได้ทั้งของประชาชนและบริษัทมีความเสี่ยงมากขึ้น

แต่ถ้าบริษัทเลือกอย่างแรกมากกว่า ก็จะทำให้เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เฟดยังต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง และนำมาสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

หากเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็น่าจะดึงยุโรปไปด้วย แม้ว่าราคาพลังงานจะลดลง แต่ยูโรโซนก็มีปัญหาเงินเฟ้อแฝงอยู่เช่นกัน

ดังที่เห็นได้ชัดเจนจากการเติบโตของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 3% เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่ไม่ขยายตัว

ภาพดังกล่าว ทำให้ Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรปเตือนว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีก ตรงกันข้ามกับความคาดหวังของนักลงทุนที่คาดว่าจะลดลง เงินดอลลาร์ที่อาจแข็งค่าขึ้น (ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงกลางปี หากตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้น) จะทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลง และเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ

ด้านเศรษฐกิจจีน แม้ว่าการสิ้นสุดของนโยบายซีโรโควิดในจีน จะทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีในระยะต่อไป แต่ก็จะทำให้การนำเข้าของจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่จีนเป็นผู้บริโภคหลัก ซึ่งจะทำให้ราคาโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อโลกในระยะต่อไป 

เห็นได้จากการที่ในปัจจุบัน ยุโรปไม่มีปัญหาเรื่องราคาก๊าซ เนื่องจากคลังเก็บก๊าซของยุโรปที่ถูกเติมเต็มส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของจีนในปี 2022 ต่ำกว่าระดับปกติ 20%

แต่หากอุปสงค์ในจีนมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว จะทำให้ราคาก๊าซทั่วโลกพุ่งขึ้นอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป

ด้วยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย นโยบายการเงินสหรัฐที่กำลังเข้าสู่ Restrictive Zone ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่กำลังเกิดภาวะ Earning Recession และทำให้ต้องขึ้นราคาสินค้า และ/หรือปลดคนงานออกในระยะต่อไป

รวมถึงราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น ทำให้เงินเฟ้ออาจไม่ลดลงง่าย และทำให้เฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด ผู้เขียนจึงยังคงเชื่อว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ยังคงสูงยิ่ง

จริงหรือไม่ ต้องติดตามด้วยตาไม่กะพริบ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด