“ปตท” เร่งสปีดธุรกิจยา ดันรายได้ "อินโนบิก" ปีนี้พุ่ง 7 พันล้าน

“ปตท” เร่งสปีดธุรกิจยา ดันรายได้ "อินโนบิก" ปีนี้พุ่ง 7 พันล้าน

กลุ่ม ปตท.ได้เร่งเครื่องธุรกิจยา โดยจัดตั้ง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ขึ้นมาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2563 รวมทั้งได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 300 ล้านบาท ขึ้นมาเป็น 13,000 ล้านบาท เพื่อสร้างธุรกิจ New S-Curve ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science)

การดำเนินงานของอินโนบิก ใช้กลยุทธ์ร่วมกับพันธมิตรเพื่อใช้เทคโนโลยีและตลาดยาของพันธมิตรมาช่วยขับเคลื่อนอินโนบิกให้ถึงเป้าหมายได้เร็ว ซึ่งธุรกิจยากำลังเปลี่ยนรูปแบบไปสู่ยาที่มีนวัตกรรมมากขึ้น ดังนั้น การเข้าสู่ธุรกิจเพื่อสุขภาพของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ใช้แนวทางเลือกพันธมิตรที่มีพร้อมในเรื่องของนวัตกรรมและโปรดักส์ ที่ถือว่ามีความสำคัญนอกเหนือจากความเข้มแข็งทางด้านการเงิน

รวมทั้งอินโนบิกจะเร่งทั้งธุรกิจยาและธุรกิจด้านโภชนาการ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาที่มีสิทธิบัตรและประสิทธิภาพระดับโลก

นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการจัดตั้งอินโนบิกมา 2 ปี ยังคงมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ 3 เรื่องหลัก คือ 1.กลุ่มธุรกิจยา 2.เทคโนโลยีทางการแพทย์ และ 3.ธุรกิจด้านโภชนาการ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจยาขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างดีจากการเข้าไปลงทุนถือหุ้นใน บริษัท โลตัส ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Lotus Pharmaceutical) บริษัทยาระดับโลกของไต้หวัน ตามสัดส่วนการถือหุ้น 37% หรือคิดเป็นประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีการขายยาทั่วโลก และในเอเชียมีสัดส่วนการขายอยู่ในระดับ 6-7% น้อยกว่าตลาดยุโรปและสหรัฐ

“ยาที่ขายเป็นยาเกี่ยวกับการรักษามะเร็ง ซึ่งเป็นยาสามัญที่สามารถทำตลาดได้ดี โดยปี 2565 โลตัส ฟาร์มาซูติคอล มียอดขายที่ 15,000 ล้านบาท มีกำไรเกือบ 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้ผลประกอบการทางธุรกิจยาดีมาก และทำให้ผลดำเนินงานของอินโนบิกในปี 2565 มีกำไรแล้ว รวมทั้งทำให้อินโนบิกตั้งเป้ารายได้ปีนี้ไว้ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปีที่แล้วประมาณ 15%” 

สำหรับ รายได้ของอินโนบิกจะมาจาก 2 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 

1. รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ของอินโนบิกในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 480 ล้านบาท 

2. การรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้นในโลตัส ฟาร์มาซูติคอล 

“ในปี 2565 การรับรู้รายได้ดังกล่าวทำให้อินโนบิกมีกำไรแล้ว หลังจากก่อตั้งบริษัทมา 2 ปี และในปีนี้คาดว่าผลประกอบการของอินโนบิกจะเติบโตขึ้น จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม”

สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้ง “โรงงานผลิตยาต้านมะเร็ง” ที่ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) คาดว่าโรงงานผลิตสารตั้งต้นยา (API) จะมีข้อสรุปด้านการลงทุนภายในไตรมาส 1 ปี 2566 โดยคาดว่าว่าจะใช้เงินลงทุนในเฟสแรกประมาณ 1,300 ล้านบาท และจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปีในการก่อสร้าง และจะต้องใช้ระยะเวลาในการขึ้นทะเบียนยา คาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายวัตถุดิบสารตั้งต้นยาได้ประมาณปี 2570

“การตั้งโรงงาน API ที่ผลิตสารตั้งต้นทางยาที่ร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมน่าจะได้ข้อสรุปในการจัดตั้งบริษัทและโรงงาน เบื้องต้นจะตั้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือพื้นที่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร เช่น พระนครศรีอยุธยา”

นอกจากนี้ ในส่วนของโรงงานผลิตยารักษามะเร็งที่อินโนบิกร่วมกับองค์การเภสัชกรรม ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการร่วมลงทุนจากเดิมที่จะสร้างโรงงานให้องค์การเภสัชกรรมเช่า โดยจะมีกลุ่มโลตัส ฟาร์มาซูติคอล เข้าร่วมลงทุนด้วย แต่ยังไม่สรุปสัดส่วนการถือหุ้น และคาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้

ทั้งนี้ อินโนบิกได้ออกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 รายการ คือ 

1.ผลิตภัณฑ์อินโนบิก โปร เบต้า-กลูแคน พลัส (Innobic Pro Beta-Glucan+) ร่วมดำเนินงานกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำประโยชน์จาก เบต้า-กลูแคน พลัส ด้วยโพรโพลิส ซัลโฟราเฟน ในผงบร็อคโคลี่ วิตามิน ดี 3 วิตามิน ซี และเควอซิติน

2.ผลิตภัณฑ์ อินโนบิก โพรไบโอติกส์ จีดี (Innobic Probiotics GD) ร่วมดำเนินงานกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) คัดเลือกเชื้อโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทยที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทยครั้งแรก เพื่อให้เหมาะกับคนไทย

สำหรับผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รายการจะช่วยเสริมสร้างสมดุลในการใช้ชีวิตง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น พร้อมจำหน่ายที่ร้าน Lab Pharmacy ทุกสาขาและร้านขายยาทั่วประเทศ และช่องทางออนไลน์ Innobic Official Shop บนแพลตฟอร์ม Shopee โดยในอนาคตมีแผนที่จะขยายตลาดในกลุ่มสินค้าอาหารสำหรับผู้ป่วยและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ 

“การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รายการ ระหว่างอินโนบิกกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวงการสุขภาพจากนักวิจัยไทย

สำหรับมูลค่าตลาดอาหารเสริมในไทยปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 75,000 ล้านบาท ส่วนมูลค่าตลาดเฉพาะโพรไบโอติกส์มีมูลค่าราว 1,000 กว่าล้านบาท โดยในปีแรกจะดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์อินโนบิก โพรไบโอติกส์ จีดี ราว 5,000 กระปุก และหากทำการตลาดในประเทศไทยแล้วได้รับการตอบดีก็มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 20,000 กระปุกต่อปี 

ส่วนอินโนบิก โปร เบต้า-กลูแคน พลัส คาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ 5,000 กระปุกต่อเดือน ซึ่งทั้งผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รายการ จะสามารถสร้างยอดขายได้ประมาณ 100 ล้านบาทในปี 2566

อย่างไรก็ตาม  ในปี2566 อินโนบิก ได้มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มอีก 11 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจำนวนดังกล่าวรวมผลิตภัณฑ์ที่เปิดตัวล่าสุดในครั้งนี้ด้วย 2 รายการ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา อินโนบิกได้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารเสริมแล้ว 10 ผลิตภัณฑ์ 

นอกจากนี้ อินโนบิกได้มองการขยายธุรกิจอาหารเสริมในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปี 2567 อินโนบิกจะขยายตลาดในต่างประเทศ เช่น ประเทศเวียดนามที่ถือว่ามีศักยภาพมาก รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการมองตลาดอาเซียนที่มีจำนวนประชากร 600 ล้านคน ที่ถือเป็นโอกาสสำคัญ เพราะการก้าวสู่อุตสาหกรรม Life Science มีแนวโน้นเติบโตตามทิศทางเศรษฐกิจ