เศรษฐกิจโลก-ไทยปี 66 ประชาชนยังอยู่ยาก

เศรษฐกิจโลก-ไทยปี 66 ประชาชนยังอยู่ยาก

ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเศรษฐกิจทั่วโลกทั้งเรื่องเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะแม้ว่าสินค้าจะมีราคาแพงแต่กำลังในการใช้จ่ายไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็ยังคงส่งผลกระทบแม้ผ่านมาเกือบครบหนึ่งปี

เกิดเป็นประชาชนคนธรรมดาในช่วงที่เงินเฟ้อสูงไม่ว่าเป็นคนประเทศไหนบอกได้คำเดียวว่า “อยู่ยาก” ในเมื่อข้าวของทุกอย่างแพงขึ้น ธนาคารกลางทุกประเทศต้องใช้วิธีขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงสถานการณ์ แต่กลายเป็นว่า คนมีหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด หรือหนี้บ้านต้องมีภาระเพิ่มขึ้น จ่ายค่างวดเท่าเดิมแต่ตัดหนี้ได้น้อยลง กรณีประเทศไทยหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1.50% ไปแล้ว ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC คาดการณ์ว่า กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในการประชุมเดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคม 2566 ครั้งละ 0.25% และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ตลอดปีนี้ เพื่อให้นโยบายการเงินค่อยๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ส่วนปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.4%

ในภาพรวมระดับโลกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่า ปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.0% แล้วจะลดลงเหลือ 1.9% ในปีนี้ ก่อนเติบโต 2.7% ในปี 2567 เรียกได้ว่าปีนี้หนักหนาจริงๆ ปัจจัยหลักมาจากเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย และความไม่แน่นอนในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือด้านภูมิรัฐศาสตร์ หนักสุดคือสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ใกล้จะครบหนึ่งปีเข้าไปทุกวัน ระหว่างที่ฤดูหนาวใกล้สิ้นสุดต่างฝ่ายต่างประเมินว่า หมดฤดูหนาวเมื่อใดฝ่ายตรงข้ามต้องลุยหนักแน่ๆ ล่าสุดทั้งเยอรมนีและสหรัฐเห็นชอบส่งรถถังไปช่วยยูเครนอย่างที่ร้องขอมานาน ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินกับกรุงเทพธุรกิจว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะยิ่งปะทุหนักขึ้นหลังผ่านพ้นฤดูหนาว เพราะรัสเซียคงโหมบุกยูเครนโดยมีเป้าหมายเพื่อยึดกรุงเคียฟเมืองหลวงของยูเครนให้ได้ การสู้รบหลังจากนั้นจะเข้มข้นและส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกันไม่สามารถตัดคำขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์จากรัสเซียออกไปจากสมการได้

แม้สมรภูมิอยู่ห่างไกลแต่เศรษฐกิจไทยยากที่จะรอดพ้นผลกระทบ ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผลพวงของสงครามสาหัสเพียงใดจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ราคาสินค้าอื่นๆ พุ่งตาม ความหวังทางเศรษฐกิจที่พอมีให้เห็นบ้างก็จากการท่องเที่ยว แต่โควิด-19 ก็ให้บทเรียนว่าการท่องเที่ยวก็อ่อนไหวกับโรคระบาดเพราะฉะนั้นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยควรมีหลายออพชัน ตอนนี้เห็นหลายพรรคการเมืองเริ่มโชว์นโยบายกันแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพวกลด แลก แจก แถม ระหว่างรอวันเลือกตั้งก็ควรมีนโยบายเศรษฐกิจทางเลือกไว้บ้าง ถามคนไทยทุกวันนี้โควิดกลายเป็นเรื่องเล็กไปแล้ว สงครามก็ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว ปากท้องสำคัญกว่า ใครอยากเป็นรัฐบาลก็ต้องมุ่งเรื่องนี้เป็นหลัก ในเมื่อขั้วอำนาจที่กำลังห้ำหั่นเกมการเมืองกันอยู่ในขณะนี้ล้วนมีผลงานเศรษฐกิจประจักษ์ให้เห็น ประชาชนคงตัดสินใจได้ไม่ยากว่าจะเลือกใคร