“อินเดีย” ตัวเลือกใหม่แทนที่จีน นั่งแท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

“อินเดีย” ตัวเลือกใหม่แทนที่จีน นั่งแท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

“อินเดีย” ตัวเลือกใหม่แทนที่จีน นั่งแท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก และในการจัดสรรงบประมาณปีนี้ รัฐบาลนิวเดลี ใช้จ่ายเงินเกือบ 20% ของงบประมาณไปกับการลงทุนในเมกะโปรเจกต์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถือเป็นการลงทุนสูงสุดในรอบทศวรรษ

ขณะที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่โหมดของการชะลอตัว เพราะการเติบโตของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งหลาย ไล่ตั้งแต่จีนไปจนถึงเยอรมนี เริ่มแผ่วลง ทำให้เดิมพันในการแสวงหาประเทศที่มีความพร้อมมากกว่าเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองหลักกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกพลอยสูงตามไปด้วย และตอนนี้ สปอร์ตไลท์หันไปส่องที่อินเดีย ที่เริ่มมีสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เห็นหลายด้าน

นายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที ของอินเดียกำลังฉวยโอกาสช่วงขาลงเศรษฐกิจโลก ผลักดันประเทศให้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน  รวมถึงการใช้จ่ายเงินเกือบ 20% ของงบประมาณปีนี้ไปกับการลงทุนที่เน้นเม็ดเงินปริมาณมาก ถือเป็นการลงทุนสูงสุดในรอบทศวรรษของอินเดีย            

ด้วยการลงทุนดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า โมที เป็นผู้นำอินเดียที่สามารถนำพาประเทศให้ก้าวขึ้นมาเป็นชาติเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งชาติหนึ่งได้มากกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ แถมเป็นผู้นำในช่วงที่อินเดียกำลังแซงหน้าจีนในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกด้วย

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานด้านประชากรของสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ระบุว่า อินเดียกำลังจะแซงจีนขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ภายใน 3 เดือนข้างหน้า ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และส่งผลต่อเศรษฐกิจ และสังคมของทั้งสองประเทศ

 

จำนวนประชากรในอินเดียกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่ที่ 1,410 ล้านคน และราว 1 ใน 4 อายุต่ำกว่า 15 ปี ขณะที่เกือบครึ่งอายุต่ำกว่า 25 ปี ส่วนประชากรจีนอยู่ที่ราว 1,450 ล้านคน แต่คนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี มีเพียง 1 ใน 4 โดยนับตั้งแต่ปี 2493 อินเดียกับจีนได้ครองสัดส่วนการเติบโตของประชากรโลกรวมกันราว 35%

จีนผงาดขึ้นมาในฐานะผู้ทรงอิทธิพลด้านอุตสาหกรรมโลก แต่การที่จีนมีนโยบายลูกคนเดียวที่นำมาใช้เมื่อปี 2523 ทำให้อัตราการเกิดลดลง และเพิ่งกลับมาอนุญาตให้ผู้หญิงมีลูก 3 คนได้ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อัตราการเกิดกระเตื้องขึ้น ทำให้ในอนาคตประชากรส่วนใหญ่ของจีนจะมีแต่คนชรา ที่ต้องพาลูกที่พวกเขามีอยู่คนเดียว ซึ่งส่วนใหญ่อาจมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถดูแลพ่อแม่ และอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคม

แต่การที่อินเดียจะดำเนินไปถึงจุดที่เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย  ผู้นำอย่างโมที ต้องฟาดฟันกับสารพัดปัญหา ตั้งแต่ปัญหาความล่าช้าของระบบราชการ ปัญหาการคอร์รัปชันที่บั่นทอนความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ บวกกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคมที่มีรากเหง้ามาจากระบบชนชั้นวรรณะในหมู่ประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน ทั่วประเทศ  

“อินเดีย” ตัวเลือกใหม่แทนที่จีน นั่งแท่นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก

“ขณะนี้กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอินเดีย ที่ผ่านมา อินเดียได้สร้างขีดความสามารถอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับสตาร์ตอัปหลายหมื่นราย สมาร์ตโฟนไม่กี่พันล้านเครื่อง และอัตราข้อมูลซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก”นันดาน นีลคานิ ผู้ก่อตั้งอินโฟซิส จำกัด หนึ่งในบริษัทให้บริการเทคโนโลยีรายใหญ่สุดของอินเดีย กล่าว

นอกจากนี้  บรรดานักวิเคราะห์ด้านระบบห่วงโซ่อุปทาน ยังมีความเห็นว่า การที่จีน และสหรัฐ ยังมีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของอินเดีย และเวียดนามไปโดยอัตโนมัติ เพราะบริษัทต่างชาติจำนวนมากพากันใช้กลยุทธ์ “จีนบวกหนึ่ง” 

ในอินเดีย บรรดาซัพพลายเออร์ไต้หวันรายใหญ่ๆ กว่าสิบแห่งของบริษัท แอปเปิล อิงค์ ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลอินเดียให้เพิ่มกำลังการผลิต และส่งออกสมาร์ตโฟนไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น

ขณะที่มูลค่าการส่งออกไอโฟนของแอปเปิลตั้งแต่เดือนเม.ย.- ธ.ค.ปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเป็น 2,500 ล้านดอลลาร์

มอร์แกน สแตนลีย์ คาดการณ์ว่า ภายในระยะ 10 ปีนี้ อินเดียจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนราวหนึ่งในห้า และมีการเติบโตด้านผลผลิตรายปีคิดเป็นมูลค่ากว่า 400,000 ล้านดอลลาร์

ตลาดหุ้นอินเดีย ก็อยู่ในช่วงขาขึ้นด้วยเหมือนกัน โดยดัชนีเซนเซ็กซ์ ตลาดหลักทรัพย์อินเดียช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ10 ปี เมื่อเทียบกับดัชนีเอสแอนด์พี 500 จากที่ไม่เคยปรับตัวเพิ่มขึ้นเลย

“ผู้คนกำลังมองหาประเทศอื่นที่เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่จะนำเงินไปลงทุนในระยะ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งผมไม่เคยเห็นกระแสความสนใจอินเดียของผู้คนมากแบบนี้มานาน 15 ปีแล้ว” นีลคานิ  กล่าว   

แน่นอน การสนับสนุนภาคการผลิตของโมที ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเขารณรงค์โครงการ "Make in India” ตั้งแต่ปี 2557 ส่วนข้อมูลจากแมคคินซีย์ ระบุว่า ปัจจุบัน อินเดียเพิ่มการผลิตเป็น 25% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ส่วนในปี 2563 การผลิตของอินเดียมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 17.4% เมื่อเทียบกับ 15.3% ในปี 2543

ขณะที่ผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กล่าสุด คาดการณ์ว่า รายได้ต่อหัวประชากรของอินเดียจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ และในอีก 10 ปีข้างหน้า การขยายตัวของจีดีพีอินเดียจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8.5% เพราะมาตรการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบต่างๆ ทั้งการลดภาษีภาคธุรกิจ การออกมาตรการจูงใจด้านการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการแปรรูปสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจต่างๆ 

ส่วนศูนย์กลางเศรษฐกิจและการวิจัยทางธุรกิจ คาดการณ์ว่า อินเดียจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีมูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2578
 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์