เปิด 17 กลุ่มอุตสาหกรรม ‘เติบโต’ ในปี 2566

ส.อ.ท. ระบุ จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีทิศทางที่จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง กิจกรรมต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีทิศทางที่จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง กิจกรรมต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าของไทยแม้มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการที่ภาครัฐเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีเพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) และซาอุดีอาระเบีย จะสามารถช่วยประคับประคองการส่งออกให้สามารถทรงตัวต่อไปได้

ด้านการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน จากอานิสงส์ของอุปสงค์ที่อั้นมานานในช่วงที่ผ่านมา (Pent-Up Demand) ของนักท่องเที่ยว ประกอบกับประเทศจีนเริ่มเปิดประเทศจะเป็นแรงส่งสำคัญให้การท่องเที่ยวในประเทศของไทยฟื้นตัวกลับไปใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับยังมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นสำคัญ 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) เพื่อเป็นแรงหนุนสำคัญในด้านการลงทุนของประเทศ พร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย BCG Model เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งต่างๆ จะช่วยเสริมสร้างโอกาสและขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ต่อไป

กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะมีการเติบโตได้มีทั้งหมด 17 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ดิจิทัล, น้ำตาล, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์, ผู้ผลิตไฟฟ้า, พลังงานหมุนเวียน, เฟอร์นิเจอร์, ยา, ยานยนต์, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, หล่อโลหะ, หลังคาและอุปกรณ์, เหล็ก, และอาหารและเครื่องดื่ม 

โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว  ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง, การส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง และมีการเปิดตลาดใหม่ๆ, ค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) 

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ยังคงผันผวน, แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ, โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในประเทศเศรษฐกิจหลัก, และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ผลจากสงครามการค้า (Trade War) และความรุนแรงของสงครามที่ขยายตัว

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2566 มีทิศทางที่เติบโตได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง กิจกรรมต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวกลับมามีสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกสินค้าแม้มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ควบคู่ไปกับการที่ภาครัฐเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี เพื่อเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ จะสามารถช่วยประคับประคองการส่งออกให้สามารถทรงตัวต่อไปได้