‘ศก.จีน-โลก’ส่อแววสะเทือนหนัก พลเมืองแดนมังกรลดครั้งแรก

‘ศก.จีน-โลก’ส่อแววสะเทือนหนัก พลเมืองแดนมังกรลดครั้งแรก

‘ศก.จีน-โลก’ส่อแววสะเทือนหนัก พลเมืองแดนมังกรลดครั้งแรก โดยผู้เชี่ยวชาญพากันวิตกกังวลว่า วิกฤติด้านประชากรศาสตร์ในจีนอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและลุกลามไปทั่วโลก

วานนี้ (17 ม.ค.) นักประชากรศาสตร์อิสระของจีนออกมาเปิดเผยว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ประชากรจีนในปี 2565 จะลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี แถมยังพูดถึงอัตราการเสียชีวิตของชาวจีนในปีเดียวกันว่าน่าจะอยู่ที่กว่า 10.1 ล้านคน เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 

ข้อมูลนี้ ทำให้บรรดานักสังเกตุการณ์ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญพากันวิตกว่า วิกฤติด้านประชากรศาสตร์ในจีนอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและลามไปทั่วโลก

ก่อนที่ทางการจีนจะแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับตัวเลขเกิดใหม่ของประชากรในสัปดาห์หน้า  “เหอ หยาฝู” นักประชากรศาสตร์อิสระในจีน ก็ให้ข่าวว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ประชากรในจีนจะปรับตัวลงในปี 2565 ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ โดยมีความเป็นไปได้ที่จำนวนเด็กแรกเกิดของจีนจะอยู่ที่ 10 ล้านคน น้อยกว่า  10.6 ล้านคน ในปี 2564

การลดลงของประชากรจีน เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ และอาจจำกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดเป็นอันดับสองของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่ผ่านมา สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่าเมื่อปี 2563 อัตราการเจริญพันธ์ุหรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิง (Fertility Rate) ทั่วโลกจะลดลงเหลือเพียง 1.7 คนในปี 2643 และเมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศตกลงต่ำกว่าประมาณ 2.1 จำนวนประชากรจะเริ่มหดตัวลง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะปรับตัวถึงจุดสูงสุดที่ราว 9,700 ล้านคนในปี 2607 ก่อนจะปรับตัวลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี 2643
 

ขณะที่ข้อมูลในปัจจุบันระบุว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอัตราการเจริญพันธ์ุปรับตัวลดลงจนประชากรอาจจะปรับตัวลดลงมากถึง 50% ในปี 2643 มีมากถึง 23 ประเทศ อาทิ ไทย, สเปน, อิตาลี, เกาหลีใต้ และอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวงในอนาคตอันใกล้

ด้านผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ไว้ว่า ประชากรจีนจะหดตัวลง 109 ล้านคนภายในปี 2593 หรือมากกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้เมื่อปี 2562 กว่า 3 เท่าตัว นักประชากรศาสตร์ของจีนจึงเตือนว่า ประเทศจีนกำลังเข้าสู่ความชราก่อนที่จะร่ำรวย ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากรายได้ลดลง ขณะที่รัฐบาลต้องแบกรับหนี้สินเพิ่ม เนื่องจากจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการสังคมที่สูงขึ้น

“แนวโน้มด้านประชากรศาสตร์และเศรษฐกิจของจีนน่ากังวลกว่าที่คาดการณ์ไว้ ถึงเวลาแล้วที่จีนต้องปรับนโยบายทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การป้องกันประเทศ และการต่างประเทศ” “อี้ ฝูเซียน” นักประชากรศาสตร์ชาวจีนให้ความเห็น

อี้ ยังเตือนว่า แรงงานจีนที่ลดลง ประกอบกับความซบเซาของภาคการผลิตจีน จะซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้น และทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นทั้งในสหรัฐ และยุโรป
‘ศก.จีน-โลก’ส่อแววสะเทือนหนัก พลเมืองแดนมังกรลดครั้งแรก

ความวิตกกังวลในเรื่องนี้ ถูกตอกย้ำอีกครั้งหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในปี 2565 ขยายตัว 3% ถือว่าดีกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะขยายตัว 2.8% แต่สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2565 ชะลอตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีการขยายตัวถึง 8.4%

ส่วนในไตรมาส 4 ปี 2565 ตัวเลขจีดีพีของจีนขยายตัว 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1.8%

สำนักงานสถิติของจีน ยอมรับว่า “รากฐานของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่แข็งแกร่ง เนื่องจากสถานการณ์ระหว่างประเทศยังคงซับซ้อนและรุนแรง ขณะที่มีแรงกดดัน 2 ด้านที่ทำให้อุปสงค์ในประเทศหดตัว คือ ปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทาน และการคาดการณ์ในอนาคตว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง ”

ในปี 2565 ทางการจีนได้สั่งล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้เป็นเวลานานถึง 2 เดือนเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ

จนถึงช่วงต้นเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ตัดสินใจยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์อย่างฉับพลัน แม้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะพุ่งขึ้นอย่างมาก ซึ่งการยกเลิกนโยบายดังกล่าวทำให้ประชาชนต่างก็วางแผนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ 

นักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงจะฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนกลับคืนมาได้

นอกจากตัวเลขจีดีพีแล้ว ข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆที่น่าสนใจของจีนก็มียอดขายจากอุตสาหกรรมค้าปลีก ปรับตัวลดลง 0.2% ในปีที่แล้ว และในเดือนธ.ค. ยอดค้าปลีกโดยรวมลดลง 1.8% จากปีที่แล้ว แต่ก็ดีกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบมากกว่า 8% 

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่ายอดการจัดเลี้ยง ยอดขายเครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง และเครื่องประดับปรับตัวลงทั้งหมดในปีนี้ ยกเว้นยอดขายยาที่เพิ่มขึ้นเกือบ 40% ในเดือนธ.ค.

ส่วนยอดค้าปลีกออนไลน์ในกลุ่มสินค้าที่จับต้องได้เพิ่มขึ้น 17.2% ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว โดยที่ยอดค้าออนไลน์คิดเป็น 27.2% ของยอดค้าปลีกโดยรวม

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในปีที่แล้วปรับตัวขึ้น 3.6%  ส่วนในเดือนธ.ค.ปรับตัวขึ้น 1.3% เช่นเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 5.1% และการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ลดลง 10%

เมื่อส่องดูตลาดแรงงาน พบว่า อัตราการว่างงานในเมืองต่างๆของจีน อยู่ที่ 5.5.% ในเดือนธ.ค. ขณะที่คนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16 ถึง 24 ปียังคงตกงาน โดยมีสัดส่วนมากถึง 16.7%