'บีทีเอส' โต้กรุงเทพธนาคม ยันสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าถูกกฎหมาย

'บีทีเอส' โต้กรุงเทพธนาคม ยันสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าถูกกฎหมาย

"บีทีเอส" โต้ "กรุงเทพธนาคม" แจงสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมเรียกร้องชำระหนี้ 2.3 หมื่นล้านบาท

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ หรือ BTSC) เปิดเผยว่า กรณีที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (กรุงเทพธนาคม) ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนถึงข้อมูลและประเด็นของคำให้การที่กรุงเทพธนาคมจะยื่นต่อศาลปกครองเกี่ยวกับคดีที่ 2 ที่บริษัทฯ ฟ้องให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมชำระค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสำหรับเดือน มิ.ย. 2564 ถึงเดือน ต.ค. 2565
เป็นจำนวนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท โดยมีข้อความบางส่วนอ้างว่า "เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ" พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่า การใช้สิทธิฟ้องคดีของ BTSC "เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพราะบีทีเอสทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทฯ (กล่าวคือ กรุงเทพธนาคม) ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับกรุงเทพธนาคม ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคมเป็นคดีนี้"

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่าข้อมูลที่กรุงเทพธนาคมเผยแพร่ต่อสาธารณชนนี้เป็นข้อมูลที่ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายจากการที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตลอดจนทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของบริษัทฯ ต่อสาธารณชนว่าบริษัทฯ ไม่สุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยรับทราบอยู่แล้วว่ากรุงเทพธนาคมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถได้ และยังไม่สุจริตมาฟ้องกรุงเทพธนาคมเป็นคดีอีก 

ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องชื่อเสียง บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องอธิบายให้สาธารณชนรับทราบถึงความถูกต้องในการดำเนินการของบริษัทฯ เกี่ยวกับการรับจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยขอชี้แจงว่าบริษัทฯ เป็นบริษัทเอกชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่มีสิทธิหรือความเกี่ยวข้องใดๆ ในกระบวนการอนุมัติและการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบัญญัติของภาครัฐ และเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่ากรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย จึงเชื่อมั่นว่าจะมีการดำเนินการสัญญาระหว่างรัฐและเอกชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

"บริษัทฯ เราได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าทั้งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 เฉพาะในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้รับจ้างและการเจรจาสัญญาว่าจ้างเท่านั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าว บริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้างอย่างถูกต้องครบถ้วน มีการหารือระหว่างทีมกฎหมายของบริษัทฯ และกรุงเทพธนาคมก่อนลงนามสัญญาอย่างรอบคอบ ดังนั้นการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นไปโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว"

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการตามระเบียบกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ต้องการเพียงให้กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคมชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถที่ค้างไว้เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้ฟ้องเรียกร้องค่าจ้างครั้งที่ 1 ไปแล้ว ซึ่งเป็นยอดค้างที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน พ.ค. 2562 จนถึงวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้พิพากษาคดีนี้ ให้กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน แต่คดียังไม่สิ้นสุดมีการอุทธรณ์และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุดโดยสงเงินค้างชำระส่วนนี้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท

และล่าสุดเมื่อ 22 พ.ย.2565 บริษัทฯ ได้ฟ้องเรียกค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 ถึงวันที่ 20 พ.ย.2565 เนื่องจากบริษัทฯ ได้มีหนังสือทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชำระเงินแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ซึ่งมีวงเงินในการฟ้องคดีที่ 2 ราว 1.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันมียอดหนี้ค่าจ้างเดินรถที่ค้างจ่ายกับบริษัทฯ และได้มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองแล้วรวมจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท

"หนี้ค่าจ้างเดินรถในขณะนี้ก็ยังเพิ่มต่อเนื่องเฉลี่ยเดือนละ 500 - 600 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ก็จะต้องรวบรวมและดูสัญญาว่าจะครบกำหนดเมื่อไหร่ หากยังไม่ได้รัวชำระก็จะต้องฟ้องไปยังศาลปกครองเพิ่มเติมอีก เพราะที่ผ่านมากรุงเทพธนาคมชำระค่าจ้างเดินรถแบบนานๆ จ่ายที สะสมเงินจากการเก็บค่าโดยสารและทยอยจ่ายมาเป็นก้อนประมาณหลักร้อยล้านบาท แต่ไม่ได้ชำระหนี้เก่าที่ติดค้าง อีกทั้งขณะนี้ยังเกิดหนี้ใหม่จากค่าจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่บริษัทฯ ต้องเรียกเก็บอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ตอนนี้มีหนี้ที่บริษัทฯ แบกรับอยู่ราว 4 หมื่นล้านบาท"

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่ฝ่ายเดียว ดังนั้นต้องการเพียงให้ภาครัฐชำระหนี้คืน แต่กลับถูกกล่าวหาถึงการสมรู้ร่วมคิดกระทำความผิดในการเข้าทำสัญญา ซึ่งบริษัทฯ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ การที่ภาครัฐออกมาระบุว่าสัญญาที่ทำร่วมกับเอกชนขัดต่อข้อกฎหมาย ก็คงต้องถามถึงภาครัฐด้วยว่าจะให้เอกชนคู่สัญญาทำอย่างไรต่อ จะมีคำสั่งให้หยุดเดินรถหรือไม่ และที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็ให้บริการรถไฟฟ้าทำตามสัญญาและระเบียบข้อกำหนดมาตลอด ภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นบริษัทฯ ก็แบกรับ โดยประชาชนและสถาบันทางการเงินเชื่อมั่นจึงได้มีการระดมทุนเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง