เศรษฐกิจโลกซึมส่งผลกระทบ งานแต่งอินเดียขนาดเล็กลง

เศรษฐกิจโลกซึมส่งผลกระทบ งานแต่งอินเดียขนาดเล็กลง

เศรษฐกิจโลกชลอตัว ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ครัวเรือนในประเทศต่างๆพากันรัดเข็มขัด ไม่ใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แม้แต่อินเดียที่ชอบจัดงานแต่งเวอร์วัง อลังการ เชิญแขกมาร่วมงานหลายร้อยคน ต่อไปนี้จะไม่มีภาพงานแต่งลักษณะนี้ให้เห็นกันอีกแล้ว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจวางแผนการแต่งงานในอินเดีย มีความเห็นตรงกันว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลแต่งงานของหนุ่มสาวชาวอินเดีย ที่ถึงแม้ผู้คนในยุคมิลเลนเนียลของอินเดียจะลดรายชื่อแขกให้น้อยลงแต่ก็ยังทุ่มเงินกับงานแต่งอย่างไม่เสียดายเหมือนเดิม โดยส่วนใหญ่หมดไปกับสถานที่จัดงาน อาหาร และการตกแต่งสถานที่ 

 ว่าไปแล้ว พิธีแต่งงานในอินเดียจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ศาสนาและความต้องการส่วนตัวของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว แต่เป็นงานฉลองที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของความชื่นชมยินดี มีการออกแบบตกแต่งอย่างมีสีสัน เรียกว่าจัดเต็มทั้งดนตรี การเต้นรำ เสื้อผ้า หน้าผมทั้งเจ้าสาวและเจ้าบ่าว  รวมทั้งพิธีกรรมต่างๆที่จะมากหรือน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับบ่าวสาวนับถือศาสนาอะไร  หรือพอใจที่จะจัดงานในรูปแบบใดด้วย

 นี่จึงเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีเงินสะพัดปีละหลายพันล้านรูปี แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกที่จะลดขั้นตอน ลดจำนวนแขกที่เชิญและลดระยะเวลาในการจัดงานที่บางงานฉลองกันเป็นสัปดาห์ และแน่นอน ย่อมเป็นการลดจำนวนชิ้นของเครื่องประดับประเภทเพชรนิลจินดาไปด้วย

การแต่งงานของชาวอินเดียจะเน้นจัดงานในช่วงฤดูหนาวประมาณต้นเดือนต.ค.ไปจนถึงปลายเดือนมี.ค.ที่ถือว่าเป็นฤกษ์งามยามดีที่สุดของการแต่งงาน

ข้อมูลของนิกเคอิ เอเชีย และสมาพันธ์วาณิชอินเดีย(ซีเอไอที) ประเมินว่า ช่วงเดือนพ.ย.ถึงเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว มีการจัดงานแต่งงาน 3.2 ล้านครั้ง และการจัดงานแต่งงานที่เกิดขึ้นทำให้เกิดรายได้ในธุรกิจการแต่งงานปริมาณ 3.75 ล้านล้านรูปี (46,000 ล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นมากจาก 2.5 ล้านล้านรูปี ในปี 2562
 

แต่ตอนนี้ ทัศนคติของคนอินเดียยุคใหม่เปลี่ยนไป หลายคนเริ่มเชื่อว่า“ยิ่งน้อยยิ่งดี”ซึ่งเรื่องนี้ “ทินา ธาร์วานิ” ผู้ร่วมก่อตั้งชาดิ สควอด บริษัทวางแผนงานแต่งงาน ที่มีฐานอยู่ในเมืองมุมไบ ให้ความเห็นกับซีเอ็นบีซี ว่า คู่บ่าวสาวในทุกวันนี้เลือกรายชื่อแขกที่มาร่วมงานโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าความรู้สึกว่าเชิญแขกเพื่อแข่งขันกับบ่าวสาวอื่นๆ เพื่อให้งานแต่งงานของตัวเองเป็นงานแต่งงานใหญ่ที่สุด

“สมิตา กุปตะ” ผู้ก่อตั้ง"เวดล็อก อีเวนท์" นักวางแผนงานแต่งงาน มีฐานดำเนินงานในกรุงนิว เดลี กล่าวว่า  "ความสำเร็จของการจัดงานแต่งขึ้นอยู่กับบรรดาแขกที่มาในงาน แต่ไม่ใช่จำนวนของแขก ตอนนี้พวกเขากังวลมากขึ้นเกี่ยวกับประสบการณ์ของแขก”

“ถ้าคุณเชิญแขก 600 คนมางานแต่งงาน คุณต้องใช้เงินมากขึ้นแน่นอน” “มานิกา ซิงห์” วัย 29 ปี ซึ่งวางแผนแต่งงานในเดือนธ.ค.ปีนี้ และเตรียมเชิญแขกแค่ 250 คนให้มาร่วมงานซึ่งจัดที่อุทยานแห่งชาติจิม คอร์เบ็ตต์ ในรัฐอุตตราขัณฑ์ กล่าว

รายงานชิ้นนี้ระบุด้วยว่า ตอนนี้ค่าเช่าสถานที่จัดงานแต่งงานนานสองวันจะอยู่ที่ 1,500,000 รูปี (18,400 ดอลลาร์) หรือประมาณ 600,000 รูปี (7,400 ดอลลาร์)มากกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
 

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า แม้อัตราเงินเฟ้อของอินเดียจะลดลงจาก 5.88% ในเดือนพ.ย.มาอยู่ที่ 5.72% ในเดือนธ.ค. แต่ราคาซีเรียล และนมยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น

ซิงห์ คาดการณ์ว่า อาหารเลี้ยงแขกเป็นส่วนที่ก่อต้นทุนมากที่สุดในงานแต่งงานของอินเดีย ซึ่งเรื่องนี้ช่วยยืนยันการตัดสินใจของเธอที่ลดจำนวนแขกที่มางานให้น้อยลง แต่เธอกลับต้องใช้จ่ายค่าชุดและเครื่องประดับมากขึ้น ซึ่งก่อต้นทุนให้เธอประมาณ 700,000 รูปี (8,600 ดอลลาร์)

“บ่าวสาวมากขึ้นเลือกที่จะจัดงานแต่งงานให้หรูหราน้อยลง แต่การใช้เงินในส่วนของเครื่องประดับก็ยังมากกว่าการทุ่มเทให้กับการจัดอาหารเลี้ยงคน” ซิงห์ กล่าว

เครื่องประดับที่บ่าวสาวอินเดียนิยมสวมในงานแต่งคือเครื่องประดับที่ทำจากทอง ทำให้การซื้อทองยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เพียงแต่หลายคู่เลือกที่จะรอให้ราคาทองถูกลงจึงค่อยซื้อ

“ยอดขายทองไม่ได้ลดลง แต่คนแต่งงานชลอการซื้อทองออกไปก่อน”ราเมช กัลยานารามาน  ผู้อำนวยการบริหารจากกัลยา เจเวลเลอร์ กล่าว 

ขณะที่สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดปรับตัวขึ้น 22.9 ดอลลาร์ หรือ 1.21% แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 8 เดือนเมื่อวันศุกร์ (13 ม.ค.) โดยปิดที่ 1,921.7 ดอลลาร์/ออนซ์ เพราะได้แรงหนุนจากการที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐชะลอตัวลง และคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย