'พัทยา' จัดบิ๊กอีเวนท์ 'ดนตรี-พลุ-มาราธอน' ฟื้นท่องเที่ยว

'พัทยา' จัดบิ๊กอีเวนท์ 'ดนตรี-พลุ-มาราธอน' ฟื้นท่องเที่ยว

บรรยากาศการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักหลังโควิด-19 คลี่คลาย ทำให้พัทยากวาดสถิตินักท่องเที่ยวในพื้นที่กว่า 2 ล้านคน คาดในปี 2566 ประเทศไทยจะมีภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ซึ่งพัทยาในฐานะกลไกสำคัญพร้อมทำหน้าที่ส่งเสริมให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจเดินหน้าอย่างเต็มกำลังด้วยความพร้อมทั้งแผนพัฒนาการท่องเที่ยวและศักยาภาพห้องพักที่มากถึง 200,000 แห่ง 

ปรเมศร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ยอดนักท่องเที่ยวต่างขาติที่เข้ามาท่องเที่ยวไทยในปี2565 เป็นนักท่องเที่ยวที่มาที่พัทยาถึง 2 ล้านคน หรือ 20% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 10 ล้านคน ณ วันที่ 10 ธ.ค.2565 ซึ่งถือว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปีกลับมาคึกคัก เห็นได้จากยอดจองโรงแรมบริเวณริมชายหาดที่เต็มทุกห้องแล้ว

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พัทยาถือว่าเป็นอีกแลนด์มาร์กสำคัญของประเทศในการจัดกิจกรรมจุดพลุงานเคาท์ดาวน์ปีใหม่ 2566 เที่ยงคืนวันที่ 31 ธ.ค.2565 ซึ่งมีทั้งกิจกรรมคอนเสิร์ตและกิจกรรมออกร้านค้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลานอเนกประสงค์สีฟ้า ท่าเทียบเรือท่องเที่ยวพัทยา (แหลมบาลีฮาย) และมีเวทีพิเศษที่ท่าหน้าบ้านเกาะล้านด้วย

“ในปี 2566 ถ้าไม่มีสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยพัทยาเองมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้ 200,000 ห้อง หรือราว 18 ล้านคนต่อปีในช่วงก่อนโควิด ซึ่งพัทยาจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องการจัดระเบียบ และการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งปัญหาการจราจร เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการท่องเที่ยวพัทยา”

ในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยชาวไทยราว 9 ล้านคน รวมถึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศใหม่ๆ ทยอยเข้ามา เช่น จากเวียดนาม ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินตรงจากรัสเซียเริ่มกลับเข้ามา ซึ่งก่อนหน้านี้รัสเซียถือเป็นนักท่องเที่ยวอันดับที่ 2 ในพัทยา รองจากจีน ขณะที่อันดับที่ 3 คืออินเดีย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อจีนผ่อนคลายการเปิดประเทศมากยิ่งขึ้นจะทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นในปี 2566

ทั้งนี้ พัทยาจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและดึงดูดการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ เทศกาลอาหารทะเล เดินกินถิ่นนาเกลือ จัดงานช่วงสุดสัปดาห์ 8 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค.2565 จนถึงวันที่ 29 ม.ค.2566 เทศกาลดนตรี ที่จะจัดในเดือน มี.ค.2566 งานวันไหลหลังเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลเมืองพัทยา เทศกาลพลุนานาชาติ และงานวิ่งมาราธอน ในเดือน ก.ค.2566 และงานวิ่งชายหาด

รวมทั้งสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดอีเวนท์ใหญ่แทบจะทุกเดือนตลอดปี2566 รวมไปถึงการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่เป็นจุดเด่นการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งของพัทยา ที่จะมีการจัดแข่งกีฬาทางน้ำระดับโลกหลายรายการ อาทิ แข่งเรือเร็ว เจ็ทสกี รวมถึงการพัฒนาเป็น “ไมซ์ซิตี้” เตรียมจัดงานระดับโลกอาทิ ไทยแลนด์อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์โชว์แสดงความพร้อมของอุตสาหกรรมอากาศยานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่วางแผนจะจัดในอีก 2 ปีข้างหน้า

สำหรับความคืบหน้าของแผนโครงการเมืองใหม่พัทยา หรือ Neo PATTAYA ที่วางแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับการเติบโตของอีอีซี โดยเน้นการพัฒนาพื้นที่ แหล่งท่องเที่ยว ด้วยการบูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐ ท้องถิ่นและภาคเอกชน ประกอบด้วย 3 แผนงาน ดังนี้

1.การพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยว มีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาตลาดลานโพธิ์นาเกลือ (Old Town นาเกลือ) จะพัฒนาตลาดขายอาหารทะเลของกลุ่มประมงพื้นบ้านสู่การเป็นตลาดอาหารทะเลระดับโลก โดยปัจจุบันโครงการก่อสร้างที่จอดรถสาธารณะ รองรับ 239 คัน ใกล้แล้วเสร็จในเดือน ม.ค.2566 รวมทั้งจะติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในอาคารด้วย ส่วนการปรับปรุงสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ สนามเด็กเล่น คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือน เม.ย.2566

รวมถึงมีการพัฒนาโครงการสะพานเชื่อมตลาดลานโพธิ์-สะพานยาว ซึ่งขณะนี้ได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ว และอยู่ระหว่างการจ่ายค่าชดเชยให้เจ้าของที่ดิน 15 แปลง ขณะที่เกาะล้านจะมีการดำเนินโครงการเพิ่มเติมด้านการบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะ โดยมีแผนที่จะสร้างเตาเผาขยะขนาด 25 ตัน จำนวน 2 เตา สำหรับการจัดการขยะบนเกาะล้าน 

นอกจากนี้จะมีโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือพัทยาใต้ (แหลมบาลีฮาย) รวมถึงการทำถนนเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร โครงการที่เกี่ยวกับการปรับปรุงภูมิทัศน์อาทิถมชายหาดเพิ่มพื้นที่จอดรถ รวมถึงการนำสายไฟ 9 เส้นทางหลักลงดินประกอบด้วยเส้นทางสายพัทยาเหนือพัทยากลางสุขุมวิทพัทยาสาย 1 พัทยาสาย 2 พัทยาสาย 3 ซอยบัวขาวพัทยาใต้ช่วงที่ 1 และพัทยาใต้ช่วงที่ 2

2.การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา ทำโครงการศึกษารถไฟฟ้ารางเบา (Tram Way) 4 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โดยเป็นเชื่อมเชื่อมสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยาเข้าสู่ตัวเมืองพัทยา โดยมีการวางแผนร่วมกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนท้องถิ่นเมืองพัทยา เช่น รถสองแถว รถจันรยานยนต์รับจ้าง รถแท็กซี่และรถประจำทาง

3.การพัฒนาระบบระบายน้ำ โดยตัดทางน้ำที่ไหลลงสู่พัทยา ก่อสร้างท่อส่งแรงดันน้ำ ขยายท่อระบายน้ำให้ใหญ่ขึ้นสร้างสถานีสูบน้ำ การขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่มเติมเพื่อผันน้ำออก ซึ่งที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้รับอนุมัติมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อสร้างอุโมงค์น้ำ วงเงินงบประมาณ 9,500 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างหารือการใช้งบประมาณร่วมกับสำนักงบประมาณ \'พัทยา\' จัดบิ๊กอีเวนท์ \'ดนตรี-พลุ-มาราธอน\' ฟื้นท่องเที่ยว