เศรษฐกิจโลกปี 66 ‘ป่วน’! ไทย ห่วงปัจจัยเสี่ยงศก.โลกถดถอย-ปมภูมิรัฐศาสตร์

เศรษฐกิจโลกปี 66 ‘ป่วน’! ไทย ห่วงปัจจัยเสี่ยงศก.โลกถดถอย-ปมภูมิรัฐศาสตร์

“เศรษฐกิจโลก”ปี 66 เผชิญทั้ง "ความเสี่ยง" และ "โอกาส" ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยขึ้น ไปจนถึง ‘จีนเปิดประเทศ’ บริษัทแห่ยื่นล้มละลาย นักเศรษฐศาสตร์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 66 สัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง อานิสงส์ท่องเที่ยว ห่วง 2 ปัจจัยเสี่ยงใหญ่ “เศรษฐกิจโลกถดถอย-ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์”

หลังจากผ่านความลุ่มๆ ดอนๆ ในปี 2565 เศรษฐกิจโลก กำลังเผชิญทั้งความเสี่ยงและโอกาสในปี 2566 ตั้งแต่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงการที่จีนเปิดประเทศ ขณะที่ เศรษฐกิจไทยปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนวิกฤตโควิดเป็นที่เรียบร้อย

แต่ภายใต้การฟื้นตัวดังกล่าว ยังมีความเสี่ยงใหญ่และความไม่แน่นอนอีกมากรออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย(Recession) ความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจจะแบ่งเศรษฐกิจโลกออกเป็นสองขั้ว ทั้งหมดนี้นับเป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจโลกปี 66 ‘ป่วน’! ไทย ห่วงปัจจัยเสี่ยงศก.โลกถดถอย-ปมภูมิรัฐศาสตร์

หากมองในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลก เว็บไซต์อัลจาซีรา รายงานว่า เมื่อผลกระทบรุนแรงที่สุดจากโควิด-19 ลดน้อยลง สงครามในยูเครนและนโยบายโควิดเป็นศูนย์อันเข้มงวดของจีน กลายเป็นตัวสร้างความโกลาหล รอบใหม่ให้กับซัพพลายเชนโลก ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูง เงินเฟ้อในหลายประเทศทะลุระดับสูงสุดในรอบสี่สิบปี

ปี 2565 ถือเป็นปีแห่งความผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังมุ่งหน้าสู่ความปั่นป่วนในปี 2566 อีกเช่นกัน ทั้งสงครามของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ที่จะสร้างความเสียหายให้กับตลาดอาหารและพลังงานต่อไป และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สร้างความเสียหายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับปัจจัยบวก การที่จีนเปิดประเทศอีกครั้งหลังปิดมาสามปีช่วยหนุนเศรษฐกิจโลกถูกบดบังด้วยความกลัวว่าโควิด-19ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในหมู่พลเมืองจีน 1.4 พันล้านคนจะทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่าเดิม

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตาในปี 2566 ประกอบด้วย

เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย

คาดว่า เงินเฟ้อ จะลดลงทั่วโลกในปี 2566 แต่ความเสียหายยังมีสูง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า เงินเฟ้อโลกจะทะลุ 6.5% ในปีนี้ลดลงจาก 8.8% ในปี 2565 ขณะที่ เขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาลดลงน้อยกว่า เงินเฟ้อน่าจะเบาลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 8.1% ในปี 2566

 

นายอเล็กซานเดอร์ ไซมาลิส ผู้บรรยายอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ แฮลแลม เผยกับอัลจาซีราว่า เงินเฟ้อน่าจะเหนือเป้า 2% ที่ธนาคารกลางชาติตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งเป้าไว้ต่อไป

“พลังงานและวัตถุดิบยังคงแพงไปอีกระยะหนึ่ง กระแสโลกาภิวัตน์ย้อนกลับบางส่วนเท่ากับว่า สินค้านำเข้าแพงขึ้น กขาดแคลนแรงงานในประเทศตะวันตกหลายประเทศทำให้ผลผลิตแพง มาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามร้ายแรงสุดที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ทั้งหมดนี้นำไปสู่เงินเฟ้อสูงขึ้น อย่างที่พวกเราเคยเจอช่วงทศวรรษ 2010”

เศรษฐกิจชะลอตัวและถดถอย

ขณะที่เงินเฟ้อคาดว่าอ่อนตัวลงในปีนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วควบคู่กับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัวแค่ 2.7% ลดลงจาก 3.2% ในปี 2565 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ประเมินไว้ต่ำกว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกขยายตัว 2.2% จาก 3.1% ในปี 2565 ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2565 ขยายตัว 2.9% ส่วนปี 2566-2567 ก็ราวๆ นั้น

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองโลกในแง่ร้ายมากกว่า เชื่อว่าเผลอๆ ปี 2566 เศรษฐกิจโลกอาจถดถอย สามปีหลังเกิดความเสียหายจากโควิด-19 ระบาด

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในทางเทคนิค ซึ่งโดยนิยามหมายถึงการที่เศรษฐกิจโตติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน แต่นายปิแอร์ โอลิเวียร์ กูริงซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ เคยเตือนเมื่อเดือน ต.ค.ว่า หลายคนอาจรู้สึกเหมือนเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 เนื่องจากการผสมโรงกันระหว่างเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อสูง และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

“สามเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดทั้งสหรัฐ จีน และเขตยูโรจะชะงักงันต่อไป ในระยะสั้นความเลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง และสำหรับหลายๆ คน ปี 2566 จะรู้สึกเหมือนเศรษฐกิจถดถอย”

จีนเปิดประเทศ

หลังล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด และปิดประเทศมาเกือบสามปี หลายวันก่อนจีนเริ่มผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เคยเข้มงวด ผลพวงจากการประท้วงของประชาชนในหลายพื้นที่อย่างไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก

การที่จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ถือเป็นโมเมนตัมใหม่ให้การฟื้นตัวของโลก ความต้องการของผู้บริโภคจีนที่ฟื้นคืนมา จะสร้างแรงหนุนให้กับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ พร้อมกันนั้น การยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ช่วยให้แบรนด์ดังระดับโลกตั้งแต่แอ๊ปเปิ้ลไปจนถึงเทสลาหายใจหายคอได้ จากที่เคยเสียหาย เพราะความปั่นป่วนผลพวงนโยบายโควิดเป็นศูนย์

ในเวลาเดียวกันการเปลี่ยนนโยบายกะทันหันของจีนก็แบกรับความเสี่ยงมหาศาล ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งหยุดเผยแพร่สถิติโควิด โรงพยาบาลทั่วประเทศก็ล้นไปด้วยผู้ป่วย มีรายงานว่าศพกองเต็มห้องเก็บศพและฌาปนสถาน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จำนวนหนึี่งประเมินว่า จีนจะมีผู้เสียชีวิตจากโควิดมากถึง 2 ล้านคนภายในเวลาไม่กี่เดือน และเมื่อโควิดแพร่กระจายในหมู่ประชากรมหาศาลอย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหวั่นเกรงมากว่าอาจเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อันตรายกว่าเดิม

นางสาวอลิเซีย การ์เซีย-เฮอร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียแปซิฟิก บริษัทจัดการการลงทุน Natixis มองว่าสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือจะมีการกลายพันธุ์ครั้งใหญ่หรือใหม่ ซึี่งการกลายพันธุ์เป็นได้ทั้งอันตรายน้อยลงหรืออันตรายมากขึ้น “และถ้าอย่างหลังเกิดขึ้น เราจะได้เห็นการปิดประเทศอีกครั้ง และจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน”

บริษัทล้มละลาย

แม้เศรษฐกิจเสียหายหนักจากโควิด-19 และการล็อกดาวน์ แต่ในความเป็นจริงระหว่างปี 2563-2564 การล้มละลายลดลงในหลายประเทศ เนื่องจากการตกลงกันนอกศาลกับผู้ให้กู้และมาตรการกระตุ้นขนานใหญ่ของรัฐบาล

ตัวอย่างเช่นในสหรัฐ ปี 2564 ธุรกิจ 16,140 แห่งยื่นขอล้มละลาย ปี 2563 จำนวน 22,391 รายเทียบกับ 22,910 รายในปี 2562 แต่เทรนด์นี้กำลังสวนทางในปี 2566 ท่ามกลางราคาพลังงานและอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

บริษัทประกันสินเชื่อ Allianz Trade ประเมินว่าการล้มละลายทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ในปี 2565 และ 19% ในปี 2566 สูงกว่าระดับก่อนโควิดมาก

“การระบาดของโควิดบีบให้หลายธุรกิจต้องพึ่งพาการกู้ยืมอย่างมาก สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเมื่อการพึ่งพาเงินกู้ราคาถูกเพื่อชดเชยการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของโลกตะวันตกผลพวงโลกาภิวัตน์มีมากขึ้น”

โลกาภิวัตน์สั่นคลอน

ความพยายามถอยห่างจากโลกาภิวัตน์เร่งตัวขึ้นในปี 2565 ส่อเค้าต่อเนื่องมาถึงปี 2566 เมื่อสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน ที่เปิดตัวภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ร้าวลึกยิ่งขึ้นในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน เดือน ส.ค. ไบเดนลงนามกฎหมายชิพและวิทยาศาสตร์ สกัดส่งออกชิพทันสมัยและอุปกรณ์การผลิตชิพไปยังจีน พุ่งเป้าสกัดการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และการส่งเสริมพึ่งตนเองในการผลิตชิพของจีน

การออกกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นแค่ตัวอย่างล่าสุดของการผันแปรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการค้าและเศรษฐกิจเสรีไปสู่การกีดกันทางการค้าและหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ

ถ้อยแถลงเมื่อเดือน ธ.ค. นายมอร์ริส จาง ผู้ก่อตั้งไต้หวันเซมิคอนดักเตอร์แมนูแฟคเจอริง (ทีเอสเอ็มซี) บริษัทผลิตชิพใหญ่สุดของโลกโศกสลดกับการที่โลกาภิวัตน์และการค้าเสรี “เกือบตายแล้ว”

“ชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐถูกคุกคามด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจจีนมากขึ้นทุกที จึงตอบสนองด้วยการกดดันทางเศรษฐกิจและการทหารต่อมหาอำนาจที่กำลังผงาดขึ้นรายนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำสงครามกันเพราะไต้หวัน แต่ในอนาคตอันใกล้การนำเข้าจะแพงขึ้นและเศรษฐกิจจะชะลอลงในทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามการค้านี้” ไซมาลิสกล่าว

ไทยห่วง‘2ปัจจัยเสี่ยงนอก’รั้งเติบโต

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่าเวิลด์แบงก์ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่าจะขยายตัวในระดับ 3.6%ซึ่งแม้จีนจะเปิดประเทศได้เร็วถือเป็นอัพไซส์ หรือ ปัจจัยบวกต่อประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยมากขึ้น แต่ความเสี่ยงที่ห่วง คือ จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ได้ ซึ่งความกังวลเหล่านี้ ยังมีผลต่อการท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ลดลงได้

นอกจากนี้ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังมาจาก การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ หรือภูมิรัฐศาสตร์ ที่หากรุนแรงมากขึ้น อาจกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทยให้ได้รับผลกระทบมากขึ้น

“จากปัจจัยลบ ในระยะข้างหน้าทำให้เวิล์ดแบงก์ปรับจีดีพีลงค่อนข้างมาก ในปี 2566 เหลือ 3.6% ลดลง 0.7% จากประมาณการณ์เดิม และจากความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ ทำให้มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ต่อเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจปรับลดกว่าคาดการณ์ มีโอกาสมากกว่า ที่จะปรับขึ้น”

ขณะเดียวกันยังมีสิ่งที่น่าห่วงอีกคือ หนี้ครัวเรือน และหนี้เอกชนในประเทศโดยเฉพาะหนี้เอสเอ็มอี ต่างๆที่อยู่ระดับสูง จากต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นมองว่า ภาครัฐควรเร่งเข้าไปดูแล แต่การเข้าไปดูแลจำเป็นต้องดูแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และจำกัดกลุ่มเป้าหมายในการช่วยเหลือ

ช็อคแรกกระทบศก.จากขึ้นดอกเบี้ย

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า Krungthai COMPASS คาดการณ์ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ 3.4% ปัจจัยบวกหลักๆ มาจากท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลคาดการณ์ท่องเที่ยวมาสู่ 21.4ล้านคนปีนี้ แต่หากจีนเปิดประเทศเร็วขึ้น คาดนักท่องเที่ยวอาจเพิ่มขึ้น เป็น 22.5 ล้านคน

อย่างไรแม้ภาพจะมีมุมบวกมากขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยปีหน้า ยังเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นเหล่านี้อาจกระทบต่อการขยายตัวส่งออกให้ลดลงได้ จากที่ประเมิน1.2% ดังนั้น ยังคงการคาดการณ์จีดีพีไว้ที่ระดับเดิม3.4% ก่อนจนกว่าจะเห็นภาพเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นในช่วงต้นปีหน้า

“ปีหน้านอกจากความเสี่ยงจากต่างประเทศ ยังมีความเสี่ยงจาก ต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ต้นปี0.40%ซึ่งกดดดันให้ด้านต้นทุนสู่ประชาชนที่อาจเพิ่มขึ้นได้ในระยะข้างหน้า ซึ่งถือเป็นช็อคแรกที่จะเจอในปี2566 และยังมีช็อคที่ยังตามมาอีกมากจากความไม่แน่นอน ดังนั้นอยากเห็นภาพที่ชัดก่อน ถึงจะปรับมุมมองปี66 ใหม่”

ห่วงส่งออกพลาดเป้า

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีหน้า หลักๆ มาจากความเสี่ยง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของประเทศต่างๆได้ ผ่านการส่งออก ที่ต้องจับตา ส่งผลให้ธปท.ปรับประมาณการส่งออกลดลงมาก เหลือเติบโตเพียง 1% ในปี2566 และหากความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น อาจส่งผลกระทบให้ส่งออกอาจหดตัวมากกว่าที่ธปท.ประเมินไว้ได้

รวมถึง ปัญหาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ หรือภูมิรัฐศาสตร์ ที่เป็นความไม่แน่นอน แม้เหล่านี้ ธปท.จะมีการนำความเสี่ยงเข้ามา ในการพิจารณาการขยายตัวเศรษฐกิจหรือจีดีพีแล้วบางส่วน แต่ความเสี่ยงมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ จากเบสไลน์ที่ประเมินไว้เดิม

อย่างไรก็ตาม ด้านปัจจัยบวก ที่เห็นชัดเจน สำหรับเศรษฐกิจไทย คือตัวเลขนักท่องเที่ยว ที่อาจมากกว่าคาดได้ จากการเร่งเปิดประเทศของจีน ดังนั้นต้องติดตาม หากจีนเปิดประเทศได้เร็วโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นได้ ทำให้ภาพรวมนักท่องเที่ยวปีหน้า อาจมากกว่าที่ธปท.ประเมินไว้ที่ 22 ล้านคนได้