เศรษฐกิจปีหน้าจะแย่หรือดี อยู่ที่เรา | บัณฑิต นิจถาวร

เศรษฐกิจปีหน้าจะแย่หรือดี อยู่ที่เรา | บัณฑิต นิจถาวร

คําถามที่ผมถูกถามมากช่วงนี้คือ เศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร ค่าเงินบาทจะไปทางไหน เป็นสองคําถามที่ทั้งตอบยากและไม่ยาก วันนี้ขอตอบคําถามไม่ยากก่อน คือ เศรษฐกิจปีหน้า

คําตอบจะไม่มุ่งไปที่ตัวเลขว่าปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวเท่าไร แต่จะอธิบายให้เข้าใจว่าผมมองเศรษฐกิจขณะนี้อย่างไร ปีหน้าหวังอะไรได้บ้าง และอะไรเป็นปัจจัยตัดสินสำคัญสำหรับเศรษฐกิจปีหน้า เพื่อให้ผู้อ่านสามารถสรุปได้เองว่าปีหน้าน่าจะร้ายหรือดีกว่าปีนี้ เริ่มด้วยเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจสหรัฐกําลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นการถดถอยที่ถูกทำให้เกิดขึ้นด้วยนโยบายที่ต้องการชะลอเศรษฐกิจด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดเงินเฟ้อและลดความเสี่ยงที่เงินเฟ้อสูงจะมีต่อเศรษฐกิจในปีหน้าและปีต่อไป

ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อสหรัฐชะลอลงต่อเนื่องแต่ธนาคารกลางสหรัฐยืนยันที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีหน้า เพราะห่วงเงินเฟ้อจะกลับมาจากตลาดแรงงานในสหรัฐที่ยังตึงตัวมาก หาคนทำงานลำบาก ทำให้ค่าจ้างเพิ่มต่อเนื่อง กดดันให้อัตราเงินเฟ้อลดลงต่อยาก

ปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยมากหรือน้อย หรือจะเจอกับภาวะ Stagflation คือเงินเฟ้อสูงพร้อมกับเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินเฟ้อในเศรษฐกิจโลกจะลงต่อหรือไม่

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐเป็นสำคัญ ไม่มีอย่างอื่น กระทบค่าเงินดอลลาร์ ตลาดการเงินและเศรษฐกิจทั่วโลก

 

เศรษฐกิจยุโรปเปราะบางมากจากผลของสงคราม อัตราเงินเฟ้อที่สูง และวิกฤติราคาพลังงาน ความอ่อนแอเกิดขึ้นทั้งประเทศในกลุ่มและนอกกลุ่มยูโรโซน เช่น อังกฤษและแม้แต่เยอรมนี

เศรษฐกิจยุโรปกําลังเข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน กดดันโดยสงคราม ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ ที่โยงกับภูมิศาสตร์การเมือง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหภาพยุโรปเพื่อลดเงินเฟ้อ

เศรษฐกิจจีนมีความไม่แน่นอนว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีหรือไม่ในปีหน้า หลังถูกกระทบมากจากโควิด-19และนโยบายโควิดเป็นศูนย์

ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดและให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ไม่ชัดเจนว่าจีนจะก้าวข้ามปัญหาที่มีอยู่ได้ดีแค่ไหนในปีหน้า

เช่น อสังหาริมทรัพย์ หนี้ครัวเรือน หนี้รัฐบาลท้องถิ่น และความเสี่ยงที่การระบาดใหญ่ของโควิดอาจประทุขึ้นหลังผ่อนคลาย รวมถึงระดับต่อไปของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนที่จะกระทบเศรษฐกิจโลก ทำให้เศรษฐกิจจีนปีหน้าเป็นได้ทั้งความเสี่ยงและปัจจัยสนับสนุน

ทั้งสหรัฐ จีน และยุโรปมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจโลก แนวโน้มถดถอยดังกล่าวทําให้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่าปีหน้า อย่างน้อยหนึ่งในสามของเศรษฐกิจในโลกจะรู้สึกเหมือนอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งผมเห็นด้วย

แต่ที่ยังดูไม่แย่มากคือประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.3 ปีหน้า จากศักยภาพเศรษฐกิจที่ประเทศมี โครงสร้างประชากรที่เอื้อ ความเพียงพอด้านอาหาร และคุณภาพของนโยบายเศรษฐกิจเช่น อินโดนีเซียและเวียดนาม

ที่ต้องตระหนักคือประเทศเรา แม้จะอยู่ในอาเซียนที่มีศักยภาพสูงที่จะเติบโต แต่เราไม่เหมือนประเทศอื่นในกลุ่ม เราเป็นประเทศรั้งท้าย เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวตํ่าสุดต่อเนื่อง สู้คนอื่นไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจเราพึ่งต่างประเทศมาก คือการส่งออกและท่องเที่ยว

ขณะที่ความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของเราตํ่า เพราะภาคธุรกิจไม่ค่อยลงทุนในนวัตกรรมและอัฟเกรดการผลิต

รัฐบาลไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ เป็นอย่างนี้มากว่าสิบปี เมื่อไม่ลงทุนไม่ปฏิรูป เศรษฐกิจก็เหมือนติดอยู่กับที่ ไม่ไปไหน เทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เติบโต

เมื่อเศรษฐกิจแข่งขันไม่ได้ กําลังซื้อในประเทศก็อ่อนแอ การใช้จ่ายในประเทศไม่เติบโต ต้องกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างหนี้ ให้ประชาชนกู้เงินมาใช้จ่ายจนเกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน

รัฐบาลกู้เงินให้ประชาชนใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนเต็มเพดานที่รัฐจะกู้ได้ตามกฎหมาย คือ กู้เพิ่มไปแล้ว 3.5 ล้านล้านบาท ตั้งแต่สิ้นธันวาคม ปี 2019 และอัตราส่วนหนี้รัฐบาลต่อจีดีพีเดือนตุลาคมปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 60.6

ปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ซึ่งร้อยละ 2.3 หรือกว่าร้อยละ 50 ของการเติบโตมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ถ้ารวมการส่งออก กว่าร้อยละ 70-75 ของการขยายตัวปีนี้มาจากภาคต่างประเทศ ชี้ถึงขนาดการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศของประเทศเรา

ที่สำคัญการเติบโตลักษณะนี้ทำให้ประโยชน์ที่ได้จากการฟื้นตัวค่อนข้างกระจุกตัว ไม่กระจาย เป็นการฟื้นตัวแบบตัวอักษร K ทําให้ความเหลื่อมลํ้าและความยากจนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น นี่คือเศรษฐกิจไทยขณะนี้

ต่อคําถามว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจคงฟื้นตัวต่อในปีหน้า แต่จากที่เศรษฐกิจโลกปีหน้ายังคลุมเครือ ภาวะถดถอยในเศรษฐกิจโลกจะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้าด้วยการส่งออกและท่องเที่ยวจะมีข้อจำกัด ไม่สดใส ยกเว้นเราจะมีนโยบายที่ดีเข้ามาช่วย

ในประเทศปีหน้าเป็นปีเลือกตั้ง จึงมีความหวังว่าเราอาจได้นโยบายเศรษฐกิจที่ดี แต่ถ้าการเมืองของประเทศยังจมอยู่ในตรรกะเดิม คือ เข้ามาบริหารและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการก่อหนี้ พร้อมกับหาประโยชน์จากตำแหน่งและการมีอํานาจรัฐ เศรษฐกิจก็จะไม่ไปไหน ไม่มีอะไรเปลี่ยน

เพราะสิ่งที่เศรษฐกิจต้องการเพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศให้เจริญขึ้น กับสิ่งที่ฝ่ายการเมืองคุ้นชินว่าคือ การบริหารประเทศเหมือนอยู่คนละโลก ประเทศจึงไม่ดีขึ้นและคนส่วนใหญ่ของประเทศเสียโอกาส

ความหวังปีหน้าจึงมีสองเรื่อง หนึ่ง เศรษฐกิจจีนก้าวข้ามปัญหาต่างๆ ได้ดีและกลับมาขยายตัวได้อย่างเข้มแข็งทําให้เศรษฐกิจโลกได้ประโยชน์และเราได้ประโยชน์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ทําให้การขยายตัวของเศรษฐกิจดีขึ้นกว่าปีนี้

สอง นโยบายของประเทศดีขึ้น ประชาชนพร้อมใจกันปฏิเสธไม่เอาการเมืองที่หมกมุ่นแต่เรื่องตำแหน่ง อำนาจ เงินและผลประโยชน์ ไม่ว่าฝ่ายไหน

เลือกการเมืองที่จะเข้ามาแก้ปัญหาและปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้น เลือกแบบถล่มถลาย นำประเทศไปสู่การทำนโยบายที่มีคุณภาพ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้า และความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศดีขึ้น

นี่คือสองความหวังของปีหน้า เป็นความหวังที่ควรมี เป็นความหวังที่สามารถเกิดขึ้นได้

เศรษฐกิจปีหน้าจะแย่หรือดี อยู่ที่เรา | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]