“เอกชน” ยื่นนายกฯ ค้านขึ้นค่าไฟ “โรงงาน-โรงแรม-ค้าปลีก”ต้นทุนพุ่ง

“เอกชน” ยื่นนายกฯ ค้านขึ้นค่าไฟ “โรงงาน-โรงแรม-ค้าปลีก”ต้นทุนพุ่ง

บิ๊กธุรกิจ สะท้อนผลกระทบขึ้นค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.2566 ต้นทุนภาคธุรกิจเพิ่ม ยิ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ หวั่นโรงงานผลิตต้นน้ำย้ายฐานผลิตออกนอกประเทศ ภาคท่องเที่ยว-ค้าขาย ฟื้นตัวไม่ได้กลายเป็น hard landing

วันนี้ (23 ธ.ค. 2565) ตัวแทนธุรกิจที่มีส่วนได้รับผลกระทบอย่างมากจากการขึ้นค่าไฟ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมโรงแรมไทย ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดแถลงข่าวชี้แจงผลกระทบและข้อเสนอต่อรัฐบาล 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าประจำงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ทำให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการมีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย ย่อมส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า และกระทบต่อเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2566 จาก 3.0% อาจแตะที่ 3.5%

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ภาคธุรกิจกำลังประสบวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งขนาดใหญ่และ SMEs มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่า Ft ในงวดหน้า จะทำให้ต้นทุนการผลิตกระโดดสูงขึ้นทันที 

โดยในระยะสั้น ราคาสินค้าและบริการต้องปรับสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ และเลิกกิจการไปในที่สุด

"เอสซีจีมีการปรับขึ้นราคาสินค้าแล้ว 20% หลังจากที่มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟในปีนี้ ซึ่งหากต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า จะทำให้ธุรกิจต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ไปยังผู้บริโภค โดยคาดว่าจะต้องปรับราคาสินค้าขึ้นอีกเฉลี่ย 20%" 

ขณะที่ระยะยาว ไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้ เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าในไทยสำหรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจะสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเดียวกัน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย กว่า 50-120%

"สำหรับอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนราคาพลังงาน 20-30% มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการย้ายฐานออกจากประเทศไทย อาทิ เซรามิก เหล็ก แก้ว กระจก เยื่อกระดาษ ปูนซีเมนต์"

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้สะท้อนว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ภาคค้าปลีกและบริการได้ถูกล็อคดาวน์หลายครั้งอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนถึงปัจจุบันนี้สถานการณ์ได้เริ่มที่จะผ่อนคลายจากการเปิดประเทศ ธุรกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็กลับมาเพียง 1 ใน 4 จากช่วงก่อนโควิด-19 

โดยปัจจุบันมูลค่าค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าที่จ่ายอยู่ เป็นเงินกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี หากต้องปรับเพิ่มค่า Ft จะมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นอีกกว่า 20% หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท

ขณะที่ภาคการค้าปลีกและบริการมีความพยายามในการจัดหาพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เช่น การติดตั้ง Solar rooftop ใช้อุปกรณ์ช่วยประหยัดพลังงาน แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทดแทนกับค่าใฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นี้อาจทำให้ภาคธุรกิจไปต่อไม่ไหวและทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมกลายเป็น hard landing 

ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและบริการจึงขอเสนอภาครัฐให้ทบทวนและพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้ 1.ขอให้ตรึ่งราคาค่าไฟฟ้าตลอดทั้งปี 2566 เพื่อให้ธุรกิจโตได้และกลับมาแข็งแรง

2.อุดหนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด ด้วยมาตรการลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงาน และงดเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานทดแทน 

3.ขอให้พิจารณาทบทวนโครงสร้างการคิดค่า FT ให้สอดคล้อง และถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและผู้บริโภค โดยไม่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมนับเป็น great multiplayer (ตัวทวีคูณ) เป็นธุรกิจสำคัญที่กระจายรายได้สู่ภาคครัวเรือนและเชื่อมโยงกับภาคขนส่ง ภาคค้าส่ง ค้าปลีก ไปจนถึงภาคเกษตรกรรม 

ซึ่งการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมและที่พัก มีต้นทุนภาระหนี้สินที่รอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวในปีหน้ายังมีภาวะความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย เงินเฟ้อและกำลังซื้อของคนไทยที่ลดลง ต้นทุนการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งค่าจ้าง วัตถุดิบ โดยค่าไฟเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด คิดเป็น 10-12% ของรายได้ เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิดเป็นเท่าตัว 

ทั้งนี้ ธุรกิจโรงแรมไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าได้ แตกต่างจากธุรกิจอื่น หรือสายการบินในต่างประเทศ ที่มี fuel surcharge จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมให้ฟื้นตัว อาทิ ความเป็นไปได้ที่จะไม่ปรับขึ้นราคาไฟฟ้าเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวและบริการเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ 

โดยช่วงเวลาที่ประเทศยังต้องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจขอเสนอให้ยกเลิกค่า minimum charge สำหรับธุรกิจโรงแรมให้ธุรกิจได้มีโอกาสฟื้นตัว 

นอกจากนี้ เสนอให้จัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนในเครื่องจักร เทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงาน และการลงทุนนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในโรงแรม เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ลดการปล่อยคาร์บอน และสอดรับกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และให้นำค่าใช้จ่ายในการลงทุนมาลดหย่อนภาษีเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ