ประวิตร ตั้งศูนย์ฯ ย้ำแผนป้องภูเก็ตเร่งระบายน้ำเมืองหาดใหญ่

ประวิตร ตั้งศูนย์ฯ ย้ำแผนป้องภูเก็ตเร่งระบายน้ำเมืองหาดใหญ่

“ประวิตร” สั่งตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ที่สุราษฎร์ธานี พร้อมย้ำแผนป้องน้ำท่วมเมืองภูเก็ต เร่งพัฒนาแหล่งน้ำเสริมจุดแข็งการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะ กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำเมืองหาดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียง

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) “เมืองปูทะเลโลก” พื้นที่จังหวัดปัตตานี ในกิจกรรมพิธีเปิดโรงเพาะเลี้ยงปู ณ โรงเพาะฟักสัตว์น้ำ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการขับเคลื่อน Soft Power ด้านอาหาร ร่วมกับเชฟชุมพล ภายใต้แนวคิด “มหานครแห่งอาหารและบริการฮาลาลสู่ตลาดโลก” ก่อนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 5/2565 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ประวิตร ตั้งศูนย์ฯ ย้ำแผนป้องภูเก็ตเร่งระบายน้ำเมืองหาดใหญ่ ประวิตร ตั้งศูนย์ฯ ย้ำแผนป้องภูเก็ตเร่งระบายน้ำเมืองหาดใหญ่ ประวิตร ตั้งศูนย์ฯ ย้ำแผนป้องภูเก็ตเร่งระบายน้ำเมืองหาดใหญ่

 

จากนั้นในช่วงบ่าย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมด้วย นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ประชุมติดตามแผนป้องกันอุทกภัย จ.ภูเก็ต สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ และการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดทรายแก้ว พร้อมมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมการท่าอากาศยานภูเก็ต และพบปะประชาชน ณ วัดม่วง ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ตามลำดับ  

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ตามที่ได้สั่งการให้มีการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งส่งผลให้สามารถป้องกันและลดผลกระทบได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว

จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความยั่งยืนด้านน้ำให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนเพื่อชีวิตที่ดีของประชาชนและเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ซึ่งได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการดำเนินการ โดยมอบจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 13 มาตรการฤดูฝนอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเตรียมการรองรับฤดูแล้งตาม 10 มาตรการควบคู่กันด้วย

โดยเฉพาะการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และมอบหมายให้ สทนช. กำกับ ติดตาม เพื่อรายงานให้ กนช. ทราบเป็นระยะๆ  รวมถึงมอบให้จังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก พื้นที่เสี่ยงแล้งซ้ำซาก รายงานต่อคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อใช้วางแผนแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ สทนช. จังหวัดภูเก็ต ร่วมกันวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงการใช้น้ำทางเลือกรองรับความต้องการใช้น้ำให้เพียงพอในอนาคต และให้จังหวัด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งรัดแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหาดทรายแก้ว และฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายโดยเร็ว

ด้าน นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 61–64) มีการพัฒนาแหล่งน้ำรวมถึงระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน จ.ภูเก็ต รวม 83 โครงการ เช่น ระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองภูเก็ต ระยะที่ 2 ศูนย์บริหารจัดการคุณภาพน้ำ เทศบาลตำบลฉลอง ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบท่อจ่ายน้ำ กปภ.สาขาภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต เป็นต้น

ขณะที่ปี 65 มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำรวม 6 โครงการ เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนป่าตอง ก่อสร้างประตูระบายน้ำคลองเจ๊ะตรา-บางเหนียวดำ เป็นต้น และในปี 66–70 มีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญใน จ.ภูเก็ต เช่น พื้นที่ชุมชนฉลอง ชุมชนรัษฏา ชุมชนราไวย อ.เมือง และชุมชนกระทู้ อ.กระทู้ เป็นต้น

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยมี นายการุณ แปลงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 และผู้เกี่ยวข้อง สรุปสถานการณ์น้ำ ณ สำนักงานชลประทานที่ 16 จังหวัดสงขลา

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกสะสมติดต่อกันหลายวันในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างในเขตสำนักงานชลประทานที่ 16 (จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล) ตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. เป็นต้นมา ส่งผลให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้น อาทิ คลองอู่ตะเภา คลองนาท่อม คลองปะเหลียน แม่น้ำตรัง คลองดุสน และคลองละงู มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรบางแห่ง ได้รับผลกระทบ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ รัตภูมิ คลองหอยโข่ง ระโนด และสทิงพระ ส่วนในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ได้แก่ ควนขนุน เมืองพัทลุง กงหรา เขาชัยสน บางแก้ว และป่าบอน  

กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 16 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำแบบ Hydro flow และเครื่องผลักดันน้ำ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง และสตูล รวม 78 หน่วย เพื่อเร่งระบายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน พร้อมติดตั้งเครื่องจักรกลสูบน้ำส่งกำลังด้วยระบบไฮดรอลิก ขนาดท่อ 42 นิ้ว อัตราการสูบน้ำ 3.5 ลูกบาศก์เมตร์/วินาที จำนวน 1 เครื่อง บริเวณซอยเพชรมาลัย 3 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกจากเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ลงสู่คลองเตย

 

ประวิตร ตั้งศูนย์ฯ ย้ำแผนป้องภูเก็ตเร่งระบายน้ำเมืองหาดใหญ่ ประวิตร ตั้งศูนย์ฯ ย้ำแผนป้องภูเก็ตเร่งระบายน้ำเมืองหาดใหญ่

ขณะที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้เร่งระบายน้ำในคลองรัตภูมิ ด้วยการเปิดบานระบายฝายชะมวงและประตูระบายน้ำรัตภูมิเพิ่มขึ้น เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากในพื้นที่ ด้านจังหวัดพัทลุง ได้บริหารจัดการน้ำบริเวณคลองท่าแนะ ด้วยการเปิดบานระบายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำตามระบบชลประทานออกสู่ทะเลโดยเร็วเช่นกัน ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลง ระดับน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว แม้ว่าปริมาณฝนจะเริ่มลดลง แต่ยังคงเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนของภาคใต้   

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม และตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน อาคารชลประทาน และคันกั้นน้ำต่าง ๆ ให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งให้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือและลดผลกระทบจากอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญให้ประสานงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ตลอดจนสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ แนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย  

 

 

นอกจากนี้ ได้กำชับให้แต่ละโครงการชลประทานศึกษาแนวทางการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัย ทั้งแบบเผชิญเหตุและในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์