ซื้อ 'ทอง' ป้องกันเศรษฐกิจถดถอย ฟังมุมมอง ฐิภา นววัฒนทรัพย์

งานสัมมนา “ WEALTH FORUM ลงทุนอย่างไรให้รวย #ปี 3 ซึ่งจัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และเนชั่นทีวี ได้รับเกียรติจากเลขาธิการสภาพัฒนฯ และภาคเอกชน มาร่วมกันส่องอนาคตเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มการลงทุนในสินทรัพย์ต่างในปี 2566

โดย ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นเเนล
จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ราคาทองคำเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง หลังปรับตัวลงต่อเนื่องตลอดปีที่ผ่านมา
โดยยังแนะนำลงทุนทองคำในสัดส่วน 5-10% ของพอร์ตการลงทุน เนื่องจากมองว่ามี 4 เหตุผลสำคัญที่นักลงทุนควรมีทองคำติดไว้ในพอร์ต ได้แก่

1. ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตนและไม่สามารถพิมพ์เพิ่มได้ ต่างจากเงินตรา (Fiat Currency)
ด้วยเหตุนี้ทองคำจึงสามารถช่วยป้องกันอัตราเงินเฟ้อและการอ่อนค่าของสกุลเงิน
ทั้งนี้ หากย้อนดูสถิติในอดีตจะพบว่าทองคำให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ เช่น
ช่วงที่เงินเฟ้อมากกว่า 3% ทองคำจะให้ผลตอบแทน 14% และช่วงที่เงินเฟ้อต่ำกว่า 3%ทองคำจะให้ผลตอบแทนประมาณ 7% ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7% ดังนั้นหากอิงสถิติในอดีต ทองคำน่าจะให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 14%
2. ทองคำไม่ได้ปรับตัวดีเฉพาะช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูงเท่านั้น แต่จะเห็นว่าในช่วง 50
ปีที่ผ่านมา ทองคำให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.93% ต่อปี ส่วน 20 ปีที่ผ่านมา ทองคำให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.87%
ต่อปี และ 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในทองคำให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.69% ต่อปี แม้จะไม่มาก แต่ก็ไม่ติดลบ
ถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน
3. ทองคำช่วยป้องกันความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบไปทั้งตลาดและเราไม่สามารถควบคุมได้
(Systematic Risk) จะเห็นว่าในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตหลายครั้งที่ผ่านมา ทองคำยังให้ผลตอบแทนที่ดี เช่น
วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 ทองคำให้ผลตอบแทนสูงถึง 47.20% และล่าสุดเมื่อปี 2020เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 นักลงทุนแห่เข้าซื้อทองคำ ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งแรงกว่า 25%
และขณะนี้มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอย (Recession) โดย “โกลด์แมน แซคส์”
ประเมินว่ามีโอกาสเป็นไปได้ 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ขณะเดียวกันเกิดสัญญาณ “Inverted Yield Curve” หลังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี สูงกว่า 10 ปี

ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิด “Inverted Yield Curve” มาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งหลังจากนั้นประมาณ 12 เดือน
จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา
ขณะเดียวกันการเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ
เพิ่มโอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยมากขึ้นไปอีก ซึ่งหากท้ายที่สุดแล้วเกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริงๆ
น่าจะเป็นปัจจัยบวกช่วยดันราคาทองคำพุ่งสูงขึ้น
4. ทองคำมีสภาพคล่องสูง สามารถซื้อ-ขาย ได้ตลอด 24 ชั่วโมงและยังสามารถลงทุนได้หลายรูปแบบทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยเลือกได้ว่าจะถือทองคำจริงหรือไม่ก็ได้ซึ่งการที่ทองคำมีสภาพคล่องสูงเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนรายย่อยเพราะไม่ต้องกลัวว่าจะมีรายใหญ่เข้ามาทุบราคาหรือทำให้ราคาสูงขึ้น
ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการซื้อขายทองคำเป็นรองแค่ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และดัชนี S&P 500 เท่านั้น
โดยมีวอลุ่มการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1.3-1.5 แสนล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นการซื้อขายผ่านตลาด OTC
ประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์, ตลาดฟิวเจอร์สอีกราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และกองทุน ETF อีกประมาณ 2
พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ เธอมองว่าการที่ธนาคารกลางทั่วโลกกลับเข้ามาซื้อทองคำอย่างมีนัยสำคัญในช่วงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อราคาทองคำในระยะต่อไป โดยในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเกือบ400 ตัน หรือ เพิ่มขึ้น 115% จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเข้าซื้อภายในไตรมาสเดียวที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี1967 และเป็นการซื้อสุทธิไตรมาสที่ 8 ติดต่อกันทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันธนาคารกลางถือครองทองคำเพิ่มเป็น 673 ตัน สูงกว่ายอดรวมทั้งปีของปีอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 1967 เป็นต้นมา
สำหรับทิศทางราคาทองคำ มองว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดของปีไปแล้ว ปัจจุบันราคาค่อยๆปรับตัวขึ้นมาเป็นลักษณะ “Sideway Up” ส่วนแนวโน้มปี 2566 ให้กรอบแนวรับไว้ที่ 1,600ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวต้านที่ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ส่วนราคาทองคำในประเทศจะมีแนวรับที่ 27,500 บาท และแนวต้าน 30,700 บาท ถึง 32,000 บาทรวมทั้งมีโอกาสที่ราคาทองคำในประเทศจะสูงกว่านี้ เพราะได้รับอานิสงส์สองต่อทั้งการปรับขึ้นของราคาทองคำในต่างประเทศ และการอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่ามีโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าไปถึงปีหน้า