จับทางเศรษฐกิจ จับทิศลงทุน ปี 2023 | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

จับทางเศรษฐกิจ จับทิศลงทุน ปี 2023 | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายสถาบันการเงินได้จัดสัมมนาประจำปีเพื่อฉายภาพเศรษฐกิจและการลงทุนปีหน้า ในส่วนของผู้เขียน ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก 2 สถาบันที่เชิญไปเป็นหนึ่งในวิทยากรในงานสัมมนา

งานแรกได้แก่งานของ SCB CIO Forum 2023 ส่วนงานที่สอง ได้แก่งานของสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ที่จัดร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้เขียนจึงขออนุญาตนำมุมมองที่ได้พูดทั้งสองงานมาแลกเปลี่ยน ดังนี้

ในส่วนของเศรษฐกิจปีหน้า เศรษฐกิจโลกและไทยจะท้าทายมาก เนื่องจากเป็นปีเปลี่ยนผ่าน จากโลกที่เงินเฟ้อต่ำ-ดอกเบี้ยขยายตัวต่ำ-เศรษฐกิจโตต่ำ ไปสู่ระบอบเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Regime) ที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจมีความผันผวนสูง ด้านวินัยการคลังจะอ่อนแอลง และปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์มีมากขึ้น (โดยอาจเริ่มตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป) ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่า ภาพเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้ จะมีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ 

จับทางเศรษฐกิจ จับทิศลงทุน ปี 2023 | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

(1) การเติบโตของเศรษฐกิจจะมีความแตกต่างกัน (Divergence) ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมจะเผชิญกับภาวะถดถอย (Recession)  

โดยในเศรษฐกิจตลาดพัฒนาแล้วจะเกิดภาวะถดถอยอย่างอ่อน ๆ จากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ครั้งใหญ่ (Big credit events) ในภาคเอกชน หรือการบริโภคและการลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  

ในทางกลับกัน การเติบโตของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จะชะลอตัวลง แต่มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยรุนแรงน้อยกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะเศรษฐกิจกำลังพัฒนาโดยทั่วไปแล้วเตรียมพร้อมที่ดีกว่า

(2) เงินเฟ้อ ในภาพใหญ่ เงินเฟ้อโลกได้ทำจุดสูงสุดไปแล้วและกำลังจะเริ่มลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากภาวะฐานสูงและเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลงแรงลดลง และ 

(3) ดอกเบี้ย ด้วยภาวะเงินเฟ้อที่แม้ลดลงแต่ไม่เท่ากัน โดยเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ระดับสูงกว่ากำลังพัฒนา ประเทศพัฒนาแล้วจึงยังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องด้วยอัตราที่สูงกว่ากำลังพัฒนา

ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจประเทศเจริญแล้วเกิดภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงกลางปีหรือหลังจากนั้น ทำให้ประเทศเจริญแล้ว (โดยเฉพาะสหรัฐ) จะต้องลดดอกเบี้ยลงและผ่อนคลายนโยบายการเงินในครึ่งปีหลัง และทำให้ดอกเบี้ยของประเทศเจริญแล้วและกำลังพัฒนากลับเข้ามาใกล้กัน (Convergence) ขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีหรือในปี 2024 

จับทางเศรษฐกิจ จับทิศลงทุน ปี 2023 | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เมื่อภาพเศรษฐกิจโลกเป็นภาพถดถอย รวมถึงการเติบโต ดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่แตกต่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทำให้เกิดทั้งความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ดังนี้

สินทรัพย์แรก ได้แก่สินค้าโภคภัณฑ์ ในปีหน้า แม้ราคาโภคภัณฑ์จะอยู่ในระดับสูง แต่มีแนวโน้มลดลงจากปีนี้โดยเฉพาะราคาน้ำมัน จากความต้องการที่ลดลงหลังจากที่ซีกโลกตะวันตกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่จะฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสุทธิไม่ลดลงมาก ขณะที่ด้านการผลิต ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ผลิตสำคัญอย่าง OPEC จะไม่สามารถผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้มากนัก ทำให้ความต้องการน้ำมันในปีหน้าต่ำกว่าการผลิตประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน  

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจจะไม่รุนแรงขึ้นแต่ไม่ลดลง ทำให้เราเชื่อว่าจะทำให้เกิด War Premium ประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยประมาณ 92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดต่ำกว่าในปีนี้เฉลี่ยประมาณ -10%

สินทรัพย์ที่สอง ได้แก่ สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ (Fixed Income) จะให้ผลตอบแทนดีขึ้นในปีหน้า จากการที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะถดถอยในครึ่งปีหลัง ซึ่งด้วยภาพดังกล่าว ทำให้ดอกเบี้ยในระยะต่อไปจะลดลง

ฉะนั้น การซื้อกองทุนพันธบัตรจะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นในปีหน้า เมื่อเทียบกับปีนี้ที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นอย่างรุนแรง โดยเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยระยะยาวจะลดประมาณ 50 bps ขณะที่ดอกเบี้ยระยะสั้นจะลดถึงกว่า 100 bps ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรเริ่มกลับมาปกติมากขึ้นจากที่กลับทิศ (Inverted Yield Curve) ค่อนข้างมากในปัจจุบัน

สินทรัพย์สุดท้าย ได้แก่ หุ้น ซึ่งวิเคราะห์ยากเพราะมีปัจจัยเฉพาะตัวมากมาย แต่หากจับจังหวะได้ดี ผู้เขียนเชื่อว่าในปี 2023 อาจเป็นปีที่ให้ผลตอบแทนสูงได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ดอกเบี้ยเริ่มลดลงแล้ว โดยหากพิจารณารายละเอียด

โดยใช้หลักการการลงทุนจาก Macro Investing Scorecard ที่ผู้เขียนคิดขึ้น โดยพิจารณาตลาดสำคัญ 5 ตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และไทย นั้น มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

มาตรวัดที่ 1 ปัจจัยพื้นฐานของหุ้น โดยวัดจากค่า P/E (Price-Earnings Ratio) หรืออัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาของหุ้นต่อกำไรสุทธิ จะพบว่า หุ้นของสหรัฐแพงสุด ไม่ว่าจะเปรียบเทียบค่าของตนเองในอดีต

หรือเทียบกับประเทศอื่น ๆ ก็ตาม ขณะที่หุ้นจีนถูกสุด ทั้งเมื่อเทียบกับตนเองและเทียบกับตลาดหลักอื่น ขณะที่ตลาดยุโรป ไทย และญี่ปุ่น มีราคาน่าสนใจ

มาตรวัดที่ 2 ภาพเศรษฐกิจในปีหน้า โดยวัดจากการขยายตัวเศรษฐกิจ โดยพบว่าเศรษฐกิจยุโรปน่ากังวลสุด ขณะที่สหรัฐและญี่ปุ่นขยายตัวต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจไทยน่าสนใจ แต่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ดีที่สุดในปีหน้า

มาตรวัดที่ 3 ได้แก่การเมือง โดยยุโรปน่ากังวลที่สุด จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจจะแย่ลง ด้านการเมืองสหรัฐน่ากังวลรองลงมา เนื่องจากผลการเลือกตั้งกลางเทอมที่เกิด Divided Government หรือการที่ฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารเป็นคนละพรรคกัน ขณะที่ไทยและจีนอยู่ระดับปานกลาง ส่วนญี่ปุ่นน่าสนใจสุด

มาตรวัดที่สี่และห้าได้แก่ด้านการเงินการคลัง โดยวัดจากดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี และมาตรการการคลังที่คาดว่าจะเบิกจ่ายในปีหน้า โดยมาตรวัดนี้ สหรัฐและจีนมีนโยบายการเงินค่อนข้างตึงตัว ขณะที่ยุโรปมีสถานะการคลังที่ตึงตัว ด้านญี่ปุ่นมีมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายที่สุด ขณะที่จีนจะมีสถานะการคลังที่ผ่อนคลายที่สุด

ด้วย 5 มาตรวัดดังกล่าว จะเห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปเสี่ยงที่สุดในปีหน้า ขณะที่ตลาดจีนและญี่ปุ่นน่าสนใจที่สุด ขณะที่ตลาดไทยน่าสนใจระดับปานกลาง 

อย่างไรก็ตาม มาตรดังกล่าวเป็นเพียงภาพความน่าสนใจในการลงทุนเพียงคร่าว ๆ เท่านั้น โดยผู้เขียนเชื่อว่า การพิจารณาระยะเวลาในการลงทุนในปีหน้าจะสำคัญที่สุด และอาจได้ผลตอบแทนที่ดีได้หากจับจังหวะถูกต้อง

ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดี ในการลงทุนปี 2023