ครม.ไฟเขียว กฟผ.รุกธุรกิจกลางน้ำลงทุน  "LNG terminal2" 1.6 หมื่นล้าน 

ครม.ไฟเขียว กฟผ.รุกธุรกิจกลางน้ำลงทุน  "LNG terminal2" 1.6 หมื่นล้าน 

ครม.ไฟเขียว กฟผ.ร่วมทุน สร้าง LNG terminal 2 หนองแฟบระยอง ถือหุ้น 50% วงเงิน 1.63 หมื่นล้าน ขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจขั้นกลางน้ำสร้างข้อได้เปรียบเรื่องการบริหารเชื้อเพลิง ปูทางการเข้าสู่ธุรกิจสู่ ฮับซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในอาเซียน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (6 ธ.ค.) เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมทุนในบริษัท LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ในสัดส่วน 50% โดยมีมูลค่าเงินลงทุนตามสัดส่วนไม่เกิน 16,350 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

โดยการอนุมัติโครงการนี้ถือเป็นการขยายธุรกิจในแนวดิ่ง (Vertical Integration) ของ กฟผ. จากขั้นปลายน้ำ (Downstream) สู่ขั้นกลางน้ำ (Midstream) เนื่องจากบริษัทมีภารกิจหลักในการดำเนินธุรกิจสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) รวมถึงการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้มีสถานะกลายเป็นก๊าซ เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และส่งต่อให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมถึงโรงไฟฟ้าของ กฟผ.

ดังนั้น การร่วมทุนในบริษัทครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มความยึดหยุ่นในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของ กฟผ. ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ยกเว้นภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จากการก่อสร้าง การจัดตั้งบริษัทและการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการร่วมทุน เนื่องจากการดำเนินธุรกรรมดังกล่าว ทำให้เกิดภาระด้านภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งทำให้ต้นทุนโครงการและต้นทุนพลังงานของประเทศเพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องขอยกเว้นภาษีเบี้ยปรับเงินเพิ่มและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 นี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ลักษณะโครงการมีท่าเรือ 1 ท่า ถังเก็บ LNG 2 ถัง สามารถรองรับ LNG ได้ปริมาณ 7.5 ล้านตันต่อปี โดยมีภารกิจหลัก ในการดำเนินธุรกิจสถานีรับ - จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) รวมถึงการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้มีสถานะกลายเป็นก๊าซ เพื่อจัดส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซ และส่งต่อให้กับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมถึงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โดยเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2565 สำหรับโครงสร้างการร่วมลงทุนบริษัท LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 จดทะเบียนจัดตั้งในไทย

โดยมี ผู้ถือหุ้น 2 ราย คือ กฟผ. (สัดส่วนการถือหุ้น 50%) และบริษัท PTTLNG (สัดส่วนการถือหุ้น 50%)  มีมูลค่ากิจการอยู่ที่ประมาณ 46,900 -52,200 ล้านบาท ส่วนผลตอบแทนการลงทุนกรณีได้รับการยกเว้นภาษี มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 6,012 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ (Project IRR) 8.5% อัตราผลตอบแทนของส่วนทุน (Equity IRR) 9.5% ระยะเวลาคืนทุน ของโครงการ 10 ปี 9 เดือน

นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่ กฟผ. เข้าร่วมร่วมลงทุนในครั้งนี้ คือ กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกำบดูแลของกระทรวงพลังงาน ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทรูปแบบเงินปันผล เป็นโอกาสที่ดีให้ กฟผ. ได้เริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการ LNG Receiving Terminal ซึ่งมีผู้ร่วมทุนเป็นผู้นำในธุรกิจ บุคลากรของ กฟผ. มีโอกาสในการพัฒนาความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินงานของ LNG Receiving Terminal จากผู้ร่วมทุนที่เป็นผู้นำในธุรกิจ สนับสนุนนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ)

โดยมีผู้ให้บริการสถานีและผู้นำเข้า LNG รายใหม่ ๆ (Third Party Access : TPA) และเพื่อเสริมความมั่นคงพลังงานไฟฟ้าในประเทศ และเป็นศูนย์กลางการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวในภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) ในอนาคต