ตลาดส่งออกไทยอาการหนักฉุดส่งออกไทยแผ่ว

ตลาดส่งออกไทยอาการหนักฉุดส่งออกไทยแผ่ว

ส่งออกไทยต.ค.ติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือน จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอ่อนแอ ฉุดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม ร่วงระนาว

กระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยหรือการส่งออกไทยเดือน ต.ค.65 มีมูลค่า 21,772.4 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.4%  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะสัญญาณการส่งออกของไทยเริ่มชะลอตัวลงเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุหลักมาจาก”การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก” ตลาดจีนยังมีมาตรการซีโร่โควิด-19 ดัชนีการผลิต หรือ PMI ของคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และสหภาพยุโรป ต่ำกว่าระดับ 50 โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ขาดแคลนพลังงานอย่างรุนแรง ทำให้สินค้าหลายหมวดชะลอตัวลง และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ติดลบ 2.8 %

ส่วนภาพรวมส่งออกรวม 10 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 243,138.5 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.1%  ส่วนการนำเข้าต.ค.2565 มีมูลค่า 22,368.8 ล้านดอลลาร์ ลดลง 2.1% ขาดดุลการค้า 596.4 ล้านดอลลาร์ รวม 10 เดือน นำเข้ามูลค่า 258,719.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18.3% ขาดดุลการค้า 15,581.3 ล้านดอลลาร์

การส่งออกไทยในเดือนต.ค.ที่ติดลบ 4.4 %  ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.พ.64

เมื่อเจาะดูการส่งออกสินค้าใน 2 หมวดหลัก คือ หมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม พบว่า ติดลบครั้งแรก โดยหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบครั้งแรกในรอบ 23 เดือน สินค้าที่สำคัญที่ลดลง เช่น ยางพาราติดลบ 28.5 % ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนติด  ผลไม้สดและแห้ง ติดลบ 34.9 % หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ติดลบ 11.3 % เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 18 เดือน

ตลาดส่งออกไทยอาการหนักฉุดส่งออกไทยแผ่ว

ขณะที่หมวดการสินค้าอุตสาหกรรม หมวดการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือน โดยเฉพาะสินค้าสำคัญที่ เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ติดลบ 22.8 %  ต่อเนื่อง 3 เดือนเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์  ติดลบ 27.4% ซึ่งกลับมาติดลบในรอบ 3 เดือน

ด้านตลาดส่งออกสำคัญของไทยก็ติดลบเช่นกัน โดยตลาดหลัก ติดลบ  4.5%  ตั้งแต่ตลาดสหรัฐฯ ติดลบ 0.9%  ติดลบครั้งแรกในรอบ ในรอบ 29 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ

ตลาดจีน ติดลบ 8.5%  โดยติดลบต่อเนื่องมาแล้ว 5 เดือน  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา เม็ดพลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ตลาดญี่ปุ่น ติดลบ 3.1 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก

 ตลาดอาเซียน (5) ติดลบ 13.1 % ครั้งแรกในรอบ 18 เดือน  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า   ถึงแม้เดือนต.ค.ส่งออกจะติดลบแต่ในภาพรวมการส่งออกของไทย  2565 ยังเป็นบวก จากการประมาณการร่วมกับภาคเอกชนล่าสุดยังมั่นใจว่าเกินเป้าที่กำหนดไว้ 4% จะเพิ่มเกือบหนึ่งเท่าตัว อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหารือเตรียมการรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ต้องทำการบ้านลึกในรายละเอียด เช่น หาตลาดใหม่ทดแทนการส่งออกในบางตลาด อย่างเคมีภัณฑ์กับเม็ดพลาสติก มีมูลค่าถึง 6.62% ของตัวเลขการส่งออกทั้งหมด ตลาดที่เตรียมการไว้ในการเร่งยอดส่งออก คือ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ 

สำหรับแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ จะประเมินว่า การส่งออกของไทยยังสามารถบรรลุกรอบเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะมีแรงสนับสนุนจากจากต้นทุนด้านพลังงาน ค่าระวางเรือที่เริ่มลดลง เงินบาทยังคงอ่อนค่าก็ตาม แต่ปัจจัยลบที่กดดันยังมีมากกว่าไมว่าเป็นเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงชะลอตัว สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้คาดหมายว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือ2 เดือนของปีนี้คือ เดือน พ.ย.และธ.ค.ว่า การส่งออกของไทยก็ยังจะหดตัวต่อเนื่อง