สหรัฐ-อียู เร่งเครื่อง คลอดกติกาการค้า”สีเขียว”

สหรัฐ-อียู เร่งเครื่อง คลอดกติกาการค้า”สีเขียว”

พาณิชย์ เตือนผู้ประกอบการไทยพร้อมรับกติกาการค้าเก็บภาษี"คาร์บอน"ของสหรัและอียู ทั้งCCAและ CBAMแนะ เร่งปรับกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานลดคาร์บอน ทำสินค้าส่งออกไปยังตลาดสหรัฐและยุโรปได้สะดวก

ปัจจุบันประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเตรียมบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้น โดยจะส่งผลต่อไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าว โดยเร่งปรับกระบวนการผลิตลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวี ธรรมอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการติดตามความเคลื่อนไหวของประเทศคู่ค้าของไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีคาร์บอนของ “สหรัฐ” และ “สหภาพยุโรป” หรืออียู

โดยสหรัฐเมื่อเดือน มิ.ย.2565 วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต ได้เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง โดยเสนอให้ผู้ผลิตของสหรัฐและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีคาร์บอน 55 ดอลลาร์ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน หากกระบวนการผลิตสินค้ามีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

สหรัฐ-อียู เร่งเครื่อง คลอดกติกาการค้า”สีเขียว”

ทั้งนี้หากกฎหมายได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภาในปี 2567 จะเริ่มใช้บังคับกับสินค้าอาทิ เพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล และภายในปี 2569 จะขยายให้ครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปที่มีสินค้าข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิต ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา

สำหรับสหภาพยุโรป เมื่อเดือน ธ.ค.2562 ได้ประกาศนโยบาย European Green Deal โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้อียูบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 55% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่Net zero emissions ภายในปี 2593 ซึ่งมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งมีวัตุประสงค์เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอนและลดความเหลือมล้ำในการแข่งขันจากการเสียเปรียบคู่แข่งต่างชาติที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจากที่เข้มข้นน้อยกว่าอียู โดยมาตรการ CBAM กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM (CBAM certificate) โดยราคาใบรับรองจะอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู โดยราคาซื้อขาย เดือน พ.ย.2565 อยู่ที่ 76 ยูโรต่อ ตันคาร์บอน

มาตรการ CBAM  คาดว่าจะเริ่มใช้ใน ปี 2566 กับสินค้า 8 ประเภท ที่นำเข้ามาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติกและอาจพิจารณาขยายขอบเขตให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นเพิ่มเติมได้ในอนาคต

นอกจากนี้ในช่วง 3 ปีแรก (2566-2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผู้นำเข้ามีหน้าที่เพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้มาตรการนี้เต็มรูปแบบ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM ปัจจุบันร่างกฎหมาย CBAM อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของรัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการเร่งรัดกำหนดการมีผลบังคับใช้หรือขยายขอบเขตให้ครอบคลุมประเภทสินค้าเพิ่มขึ้นหรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบร่างกฎหมาย CCA ของสหรัฐกับมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป พบว่า ทั้ง 2 มาตรการมีเป้าหมายเดียวกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มีส่วนที่แตกต่างกัน อาทิ มาตรการ CBAM จะใช้บังคับกับสินค้านำเข้าเท่านั้น และจะเก็บภาษีคาร์บอนที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนร่างกฎหมาย CCA จะใช้บังคับกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศและสินค้านำเข้า และจะเก็บภาษีคาร์บอนเฉพาะส่วนที่เกินกว่ากำหนดเท่านั้น

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆควรติดตามพัฒนาการที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะกับประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายของตนเอง และ จะต้องเร่งพิจารณายกระดับระบบกลไกราคาคาร์บอนที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล เพื่อลดภาระการจ่ายภาษีหรือซื้อใบรับรองการปล่อยคาร์บอนที่ผู้ผลิตไทยต้องจ่ายให้กับต่างประเทศด้วย