สภาฯผู้บริโภค จี้ กสทช. เปิดสัญญาบอลโลก

สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุ ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกต้องทั่วถึง เป็นธรรม ยื่น กสทช. เปิดเงื่อนไขสัญญาเงินสนับสนุนที่ให้กับ กกท. เพื่อความโปร่งใส พร้อมเสนอ กสทช. ออกมาตรการเยียวยาแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค

จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติอนุมัติการสนับสนุนเงินงบประมาณแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 (FIFA World Cup Final) โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 600 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึงนั้น

วรลักษณ์ ศรีใย หัวหน้าฝ่ายนโยบายและนวัตกรรม สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ระบุว่า จากการติดตามข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ในประเด็นลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก พบว่า สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ให้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในประเทศไทยกับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพียงผู้เดียว ดังนั้น กกท. จึงมีสิทธิ์ในการจัดสรรการถ่ายทอดสดครั้งนี้ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงทุกช่อง แต่ กกท. กลับให้บริษัท ทรู ดิจิตอล กรุ๊ป จำกัด บริษัท ทรู วิชั่น กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (กลุ่มทรู) ได้สิทธิเลือกคู่แข่งขัน ทั้งจำนวนคู่ และได้จำนวนช่องที่มากกว่า และสามารถถ่ายทอดสดในระบบ HD รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนจากค่าโฆษณาสินค้าอีกด้วย ทั้งที่จ่ายเงินซื้อลิขสิทธิ์ไปเพียง 25 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กกท. ยังไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการว่ามีการทำสัญญาการให้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกระหว่าง กกท. กับ ผู้ประกอบการรายดังกล่าวเลย และเป็นที่มาของคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลทรัพย์สินทางปัญญา ที่ตามมาคือผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่สามารถรับชมช่องฟรีทีวีตามปกติได้ตามกติกาของ กสทช. ได้แก่ มัสต์แครี่ (Must Carry) คือ ผู้ให้บริการทีวีทุกประเภทต้องนำสัญญาณของช่องทีวีดิจิทัลพื้นฐานซึ่งเป็นฟรีทีวีไปเผยแพร่ และมัสต์แฮฟ (Must Have) คือ กีฬาหลัก ๆ ที่สำคัญ จำนวน 7 รายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ที่ต้องให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการฟรีทีวี เพื่อความเท่าเทียมทั่วถึงและไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายกับประชาชน

“การกำหนดกติดังกล่าวขึ้นมากระทบสิทธิขั้นพื้นฐานผู้บริโภค เพราะเป็นเงื่อนไขให้ผู้บริโภคต้องมีภาระเพิ่มขึ้นในการเข้าถึงเนื้อหา ไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวีได้ตามปกติ ทั้งที่หลักการของ Must Carry คือต้องมีการบริการที่เป็นการทั่วไป” วรลักษณ์ ระบุ

ด้วยสาเหตุข้างต้นที่ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและมีภาระเพิ่มในการเข้าถึงเนื้อหาการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงยื่นหนังสือข้อเสนอให้กับภูมิภัส พลการ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร ตัวแทนจาก กสทช. ที่เป็นผู้รับหนังสือแทน ดังนี้ 

หนึ่ง เปิดเผยรายละเอียดเงื่อนไขและสัญญาที่ กสทช. จัดทำกับ กกท. จากการสนับสนุนงบประมาณ 600 ล้านบาท จากกองทุน กทปส. มาตรา 52 และ 36 ที่อ้างถึงการให้คนพิการ คนด้อยโอกาสได้เข้าถึงการรับชมบอลโลก เพื่อดูว่าการสนับสนุนของกองทุน กทปส. เป็นไปตามเจตนารมณ์และเป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือไม่ 

สอง กสทช. ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการออกมาตรการเยียวยาให้กับผู้บริโภคที่รับชมฟรีในระบบโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) มาโดยตลอด แต่ปัจจุบันไม่สามารถรับชมรายการตามปกติได้ครบทุกช่อง โดยเฉพาะเนื้อหาการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่กำหนดในกฎ Must Have ส่งผลให้กระทบสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน เช่น การเยียวยาสนับสนุนอุปกรณ์ การรับสัญญาณดิจิทัลทีวีให้กับครัวเรือนที่ต้องการ โดยใช้กองทุน กทปส. มาสนับสนุนตามหลักการ 

สาม ควรเปิดรับเรื่องร้องเรียนเชิงรุก จากกรณีปัญหาจอดำที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เพื่อสำรวจผลกระทบและวางมาตรการแก้ไขเพื่อให้คนไทยเข้าถึง ‘ฟรีทีวี’ ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามหลักการโทรทัศน์ที่เป็นการบริการทั่วไปตามกฎหมาย กสทช. 

สี่ กสทช. ควรเปิดรับฟังความเห็นการแก้ไข กติกา Must Have และ Must Carry ในระยะยาว ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นและปฏิบัติได้จริง โดยหาจุดสมดุลระหว่างการแข่งขันของเอกชนและการคุ้มครองผู้บริโภค 

และห้า กสทช. ควรสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางแก้ปัญหา เยียวยาผู้บริโภคในปัจจุบัน และ ป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดอีกในการแข่งขันบอลโลก ปี 2026