คำต่อคำ ‘รมว.คลัง’ ตอบกระทู้ ‘สว.’ ปมเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ หลังเว้นใช้กม.40 ปี

คำต่อคำ ‘รมว.คลัง’ ตอบกระทู้ ‘สว.’  ปมเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ หลังเว้นใช้กม.40 ปี

ประเด็นการเก็บภาษีการขายหุ้นที่อัตรา 0.11% ของมูลค่าการขาย โดยในปีแรกจะจัดเก็บ 0.55% นั้นได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมายังอยู่ในความสนใจของประชาชนโดยเฉพาะแวดวงนักลงทุน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องเช่นวงการโบรกเกอร์

  แม้ว่าข่าวเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นจะหายไปจากสังคมพักใหญ่ หลังจากที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงแนวคิดนี้ไปตั้งแต่ปลายปี 2564 หากแต่ที่จริงแล้วได้มีการให้ข้อมูลกับฝ่ายต่างๆมาอย่างต่อเนื่องอย่างเช่นเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา  ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) รมว.คลังได้ตอบกระทู้ถามเรื่องการเก็บภาษีขายหุ้น ที่ตั้งกระทู้ถามโดยนาย สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิก สมาชิกวุฒิสภา  (สว.)

              โดยในการตอบกระทู้ถามในครั้งนั้น รมว.คลัง ได้ชี้แจงถึงความจำเป็นในการจัดเก็บภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) รวมทั้งไล่เรียงถึงการยกเว้นภาษีชนิดนี้มากว่า 40 ปี และได้ตอบคำถามถึงการขยายฐานรายได้ของกระทรวงการคลังด้วย

              “กรุงเทพธุรกิจ” ได้เรียบเรียงการตอบกระทู้ ของ รมว.คลังในครั้งนั้นมานำเสนอให้ผู้อ่านได้รับทราบอีกครั้งดังนี้

คำต่อคำ ‘รมว.คลัง’ ตอบกระทู้ ‘สว.’  ปมเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ หลังเว้นใช้กม.40 ปี

นายสถิตได้ตั้งกระทู้ถาม รมว.คลังว่า รมว.คลังได้เข้ามารับตำแหน่ง ได้มีแนวความคิดที่ดีมากในเรื่องการคลัง กล่าวคือท่านได้กล่าวแนวคิดว่า ในเมื่อรายจ่ายของประเทศเพิ่มขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางในการเพิ่มรายได้ ซึ่งรายได้ที่สำคัญ คือ รายได้จากการเก็บภาษี คงจะเป็นด้วยเหตุนี้ท่านรัฐมนตรีจึงได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564  ว่ากระทรวงการคลังกำลังเตรียมดำเนินการใช้แผนการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะประเภทหนึ่ง จึงขออนุญาตเรียนถามว่า

  1. กระทรวงการคลัง มีนโยบายในการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์หรือไม่ อย่างไร
  2.  กระทรวงการคลัง มีนโยบายในการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขาย หลักทรัพย์ กระทรวงการคลังจะมีแนวทางในการจัดเก็บภาษีอย่างไร
  3.  กระทรวงการคลัง ได้มีการวิเคราะห์การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือไม่อย่างไร

 

รมว.คลังได้ตอบกระทู้ถามว่า ในประเด็นว่ากระทรวงการคลัง มีนโยบายในการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ ที่เรียกว่า ไฟแนนเชียลทรานเซคชันแทคซ์หรือไม่ อย่างไร ขออนุญาตเท้าความสักนิดหนึ่ง ตามที่ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้กรุณากล่าวถึงที่ผมให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่12 ธันวาคม 2564 เป็นความจริง ตั้งแต่ผมมารับตำแหน่งเดือนตุลาคม 2563 ได้มีแนวทางและแนวนโยบายที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภารกิจของกระทรวงการคลัง ซึ่งเราทราบดีว่าในช่วงปี 2563 - 2564 มีรายจ่ายที่ไม่ปกติเพิ่มขึ้นมาก งบประมาณแต่ละปี  3.1 – 3.2 ล้านล้านบาท ไม่สามารถที่จะนำมาใช้ในเรื่องการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ จำเป็นที่จะต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อมาช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชน รวมทั้งเรื่องการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เศรษฐกิจไม่สามารถที่จะเติบโตได้อย่างปกติ

เพราะฉะนั้นภาระเรื่องการใช้จ่ายตรงนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งไมใช่ประเทศเราประเทศเดียว มีหลายประเทศทั่วโลก มีการกู้เงินเพิ่มเติมอย่างมากมายมหาศาลแล้ว แต่ว่าเศรษฐกิจประเทศไหนที่มีกำลังเศรษฐกิจดีจะกู้เงินมากนิดหนึ่งทำให้หนี้สาธารณะของประเทศนั้นในแต่ละปี และแต่ละประเทศเพิ่มขึ้นสูงมาก

ของเราเช่นเดียวกันถึงได้มีการขยับเรื่องเพดานหนี้สาธารณะออกไป แต่การขยับออกไปจาก 60 % เป็น 70% ไม่ได้หมายความว่าเราจะกู้เงินทั้งหมด แต่เป็นการเปิดช่องให้รัฐบาล ถ้าหากมีวิกฤติหรือมีเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ สามารถดำเนินการกู้เงินเพิ่มเติมได้

คำต่อคำ ‘รมว.คลัง’ ตอบกระทู้ ‘สว.’  ปมเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ หลังเว้นใช้กม.40 ปี

เมื่อเรามีรายจ่ายแน่นอนภารกิจของกระทรวการคลังต้องหารายได้มาให้เพียงพอสำหรับรายจ่าย วุฒิสภาที่มีอยู่นอกจากรายจ่ายตามปกติ ตามงบประมาณประจำปี เพราะฉะนั้น แนวคิดเรื่องการจัดเก็บ รายได้ของภาครัฐมาจากหลายแหล่ง  ภาษี  รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รายได้จากการกู้เงิน หรือการออกพันธบัตรต่าง ๆ เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย อย่างกรณีงบประมาณประจำปีที่เราขาดดุลใช้วิธีการกู้เงินเข้ามาเพื่อที่จะเติมเม็ดเงินให้กับภาครัฐในการใช้จ่ายตามที่กำหนดการขาดดุลไว้ 6 - 7 แสนล้านบาท แนวคิดมี 2 เรื่อง คือ  การขยายฐานภาษี การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี การจัดเก็บรายได้ เป็นสิ่งที่เราทำแน่นอนที่สุดในโลกดิจิทัล ประสิทธิภาพ การจัดเก็บรายได้เริ่มจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในเรื่องการทำธุรกรรมระหว่างรัฐบาลประชาชนกับภาคธุรกิจ โดยกรมจัดเก็บรายได้ 3 กรมหลัก มีกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต ได้ออกแบบและนำเครื่องมือมาใช้ในการยื่นแบบภาษีต่าง ๆ เพื่อชำระเงินโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาที่กรม ไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานก็สามารถชำระภาษีได้ หรือแม้กระทั่งเรื่องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลซื้อบนมือถือได้ อันนี้คือประสิทธิภาพส่วนหนึ่งที่ลดต้นทุน เรื่องการเดินทางและเจ้าหน้าที่ที่จะต้องมานั่งคำนวณภาษีให้ทุกอย่างเข้าเป็นระบบอัตโนมัติ

เรื่องการขยายฐานภาษีเป็นปัญหามาโดยตลอด การขยายฐานภาษีการจัดเก็บรายได้มีทางเดียว คือ ต้องขยับเรื่องโครงสร้างอัตราภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีการบริโภคหรือมูลค่าเพิ่ม แต่จะมีข้อจำกัดในแต่ละประเภท เป็นที่มาอันหนึ่ง

“ผมคิดว่าเรื่องภารกิจของนโยบายการคลังต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาการจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีลดน้อยถอยลงไปโดยลำดับ แต่ก่อนสัดส่วนการจัดเก็บรายได้ต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 20% 19 - 18 % ถือว่าโอเค แต่ปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 13 - 14  % หมายความว่ากำลังเรื่องการใช้จ่ายจะลดลงไปด้วยในขณะที่เราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะฉะนั้น เรื่องการขยายฐานภาษีเป็นเรื่องสำคัญ

 

ภาษีขายหลักทรัพย์เคยเป็นรายได้สำคัญ

ประเด็นเรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ ถือเป็นหนึ่งในฐานภาษีที่สำคัญของกระทรวงการคลัง ขออนุญาตเรียนว่าการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ปรากฎอยู่ในประมวลรัษฎากร คือ มีกฎหมายให้มีการจัดเก็บอยู่แล้ว แต่ได้มีการยกเว้นภาษีมาโดยลำดับ ดังนี้

  • ปี 2521  มีการจัดเก็บภาษีการค้า 0.1%  สมัยก่อนเรียกว่าเซลส์แท็กซ์ (sales taxes) หรือภาษีการค้าสำหรับรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอัตรา 0.1% อันนี้กำหนดไว้ในกฎหมายแล้ว

 

  • หลัง ปี 2525 มีการยกเว้นภาษีการค้าให้แก่การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

  • ปี 2535 มีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะแทนภาษีการค้า เปลี่ยนระบบภาษีใหม่จากเซลส์แท็กซ์เป็นสเปเชียลบิสซิเนสแท็กซ์ (special business tax) หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1% ของรายรับหรือ 1.11%  เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น เพราะฉะนั้น ภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.10% บวกกับภาษีท้องถิ่นให้อีก 1-10%    อย่างไรก็ดีมีการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่เริ่มจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในปี 2535  เพราะฉะนั้น ในปี 2535 เมื่อมีการเปลี่ยนจากภาษีการค้ามาเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะมีการยกเว้น อีกเช่นเดียวกัน ถ้าหากนับเรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะระยะเวลา 3 – 31 ปี แต่ถ้านับย้อนหลังไปอีกประมาณ 40  ปี ภาษีตัวนี้เราไม่ได้เก็บเลย ทั้งที่ในกฎหมายได้กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยกเว้นภาษีที่จัดเก็บรายรับมาระยะเวลา 40 ปีแล้ว บัดนี้ตลาดหลักทรัพย์ได้เติบโตขึ้นค่อนข้างมากโดยปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคป (market cap) ได้โตขึ้นถึง 22เท่า จาก 30 ปีก่อน

 

กระทรวงการคลัง จึงมอบหมายให้กรมสรรพากรศึกษาความเหมาะสมในการยกเว้นภาษีเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ศึกษาผลกระทบต่อการลงทุนในตลาด หลักทรัพย์และผลกระทบอื่น ๆ ในทุกมิติ

เพราะฉะนั้น ถามว่าเป็นนโยบายหรือไม่ ถือว่าเป็นนโยบายในการที่จะขยายฐานภาษีในส่วนที่มีการยกเว้นหรือมีการลดหย่อน เพราะการลดหย่อนภาษี ต่าง ๆ ถือว่ามีค่อนข้างมากและมีความซ้ำซ้อน เป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องมีการคอนโซลิเดต (consolidate) หรือการจัดกลุ่มเรื่องกรลดหย่อนภาษีเพื่อไม่ให้การสูญเสียมีมาก หรือกรณีที่มีการ ยกเว้นภาษีให้ในอดีตเป็นเวลานานจะมีการทบทวนเพื่อที่จะสร้างรายได้ให้กับรัฐบาล ประเด็นอยู่ ที่ว่าตลาดในสมัยที่ยกเว้นเพื่อส่งเสริมให้ตลาดหลักทรัพย์เติบโตได้ในต้นทุนที่รัฐไม่ได้เข้าไปเก็บภาษี

วาง 4 แนวทางจัดเก็บภาษีขายหุ้น

ส่วนแนวทางการจัดเก็บภาษีขอเรียนว่าการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์มีแนวทางตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากรเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ในประมวลรัษฎากรกำหนด ทั้งอัตราและแนวทางปฏิบัติในการจัดเก็บภาษี มี 4  ประเด็น

 

1.เรื่องของฐานภาษี ต้องมีฐานภาษีก่อน ฐานภาษีในการกำหนดให้เก็บภาษีสำหรับการขยายหลักทรัพย์ในตลาดหลักรัพย์ตามมาตรา 91/5 แห่งประมวลรัษฎากร คือรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ประเด็นตรงนี้ คือ มีการขาย มีการซื้อ เรากำหนดเก็บภาษีเฉพาะ เรื่องของการขาย บางประเทศเก็บภาษีการขาย เก็บภาษีการซื้อ คือ เก็บภาษีทั้งการซื้อและการขายแต่กรณีของเราเป็นไปตามประเทศส่วนใหญ่ ดูการจัดเก็บภาษีของประเทศอื่นด้วย เก็บภาษีเฉพาะ การขายอย่างเดียว

2.อัตราภาษีสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์เท่ากับ 0.11% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น

3.ปกติการซื้อขายหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ไปซื้อขายกันเอง จะผ่านโบรกเกอร์ (broker) เพราะฉะนั้น สมาชิกตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายหรือที่เรียกว่า "โบรกเกอร์" จะหักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขายในนามของตนเอง โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีอีก คนที่จัดเก็บภาษีให้รัฐ คือ โบรกเกอร์ โดยที่ผู้ลงทุนรายย่อยไม่ต้องทำอะไรจะถูกหักภาษีออกไป 0.11%

4.โบรกเกอร์จะมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นรายเดือนภาษีพร้อมกับชำระภาษี ถ้ามี ไม่ว่าจะเป็นรายรับในเดือนภาษีหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นภายในวันที่ 15  ของเดือนถัดไป เพราะฉะนั้นเรื่องแนวทางปฏิบัติกำหนดไว้แล้ว เว้นเสียแต่ว่าถ้าหากไม่เก็บภาษีแล้วมีการยกเว้นบ้าง

กรณีที่มีข้อเรียกร้องว่าอาจจะไม่เก็บภาษีในทุกทรานเซกชัน (transaction) หรือทุกธุรกรรมการขาย แต่อาจจะมียกเว้นสำหรับยอดที่ขายไม่ถึงเท่าไร อันนี้ยังไม่ได้กำหนด หากกำหนดจะยุ่งขึ้นไปอีกในระบบการจัดเก็บภาษี

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้มีการวิเคราะห์การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ อย่างไรนั้น ขอเรียนว่ากระทรวงการคลัง ได้มอยหมายให้กรมสรรพากรศึกษาผลกระทบ จากการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ ซึ่งการศึกษาของกรมสรรพากร มีดังนี้

ต้นทุนธุรกรรมเพิ่มเป็น 0.22% 

  • เรื่องต้นทุนการทำธุรกรรม ต้นทุนธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ในปัจจุบันอยู่ที่ 0.17% ของมูลค่าการซื้อหรือการขาย โดยตันทุนส่วนใหญ่ คือ ค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์ สมมุติว่า เราเป็นนักลงทุนซื้อหุ้นอยู่ในตลาดผ่านโบรกเกอร์ ในทุกการขายของเราจะถูกโบรกเกอร์เก็บค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.17%  เพราะฉะนั้น โบรกเกอร์มีต้นทุนตรงนี้อยู่หากมีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในอัตรา0.11% จะทำให้ต้นทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 0.22% เป็นการคำนวณโดยวิธีการทั้งการซื้อและการขาย

 

  • ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งของเรา ยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ เราจะสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ ภาษีของเขาอยู่ที่ประมาณ 0.20%  เราจะสูงกว่าเล็กน้อย ในกรณีของประเทศสิงคโปร์การเก็บภาษี 0.20% เฉพาะเรื่องของธุรกรรมที่มีการโอนหุ้นหรือขายหุ้นโดยกระดาษ โดยแมนนวล (manual) แต่ถ้าเป็นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่มีการเก็บภาษี ถ้าหากเทียบกับประเทศมาเลเซียเราจะต่ำกว่า มาเลเซียเก็บภาษี 1.29% ต้นทุนเรื่องของภาษี ในกรณีของฮ่องกงเก็บ 0.38%  ของเรายังต่ำกว่า ในกรณีของมาเลเซียกับฮ่องกงเก็บทั้ง 2 อย่าง การซื้อกับการขาย

“ถ้าเทียบ กับคู่แข่ง 0.22% ถือว่าเรายังต่ำกว่า อันนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีข้อเรียกร้องจาก สมาคมค้าหลักทรัพย์ต่าง ๆ บอกว่าจะไปเพิ่มต้นทุน ซึ่งมีอยู่แล้ว 0.17% เราไปเพิ่มอีกจะทำให้แข่งกันไม่ได้ เรียนว่าจริง ๆ แล้วในประเด็นนี้คงจะต้องมีการปรับตัวกันบ้าง เพราะว่าเราไม่เก็บภาษีเมื่อ 30 ปีก่อน กลายเป็นสิ่งเหล่านี้ไปอยู่ที่มือของโบรกเกอร์เป็นค่าธรรมเนียม ของโบรกเกอร์ เมื่อมีการอิมพลีเมนต์ (implement หรือมีการเริ่มปฏิบัติในเรื่องนี้คงจะต้องมีการพิจารณาทบทวน เพราะฉะนั้น ธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ไทย หลังการจัดเก็บภาษียังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้”

ยันมีผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น

การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์อาจมีผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทัรพย์ในระยะสั้น จากกรณีตัวอย่างของต่างประเทศ เช่นฝรั่งเศส อิตาลี ซึ่งการออกกฎหมายจัดเก็บไฟแนนเชียลทรานแซคชัน ในปี 2555 และปี 2556 ตามลำดับ

พบว่าผลกระทบการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงเดือนแรก ๆ ที่เริ่มจัดเก็บภาษี แต่ยังไม่พบผลกระทบในระยะยาว