'บีอีเอ็ม' พร้อมลงนามรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียว

'บีอีเอ็ม' พร้อมลงนามรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียว

"บีอีเอ็ม" ประกาศความพร้อมลงนามร่วมทุนรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังผู้ถือหุ้นไฟเขียวเข้าทำสัญญา คาดใช้งบ 1.2 แสนล้านบาท เร่งเปิดบริการส่วนแรก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์ ภายในปี 2568

รายงานข่าวจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เปิดเผยว่า BEM ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/ 2565  ซึ่งเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 พ.ย.2565 เวลา 14.00 น. โดยมีนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริษัท เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

โดยจะดำเนินการภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติ และอนุมัติให้ว่าจ้างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารและก่อสร้างงานโยธา (ช่วงตะวันตก) และผู้ออกแบบ จัดหา ติดตั้ง ทดสอบอุปกรณ์งานระบบและทดลองเดินรถไฟฟ้า (ช่วงตะวันออกและตะวันตก) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยการร่วมลงทุนเพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในระบบรางของประเทศให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ผู้ถือหุ้น สังคมและประเทศชาติโดยรวม

ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าดำเนินงานได้ทันที หลังจากลงนามสัญญา และมั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-สุวินทวงศ์) ได้ภายใน 3 ปีครึ่ง หรือภายในปี 2568 และส่วนตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) ได้ภายใน 6 ปี หรือภายในปี 2571 ตามแผนงานของ รฟม. ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของ BEM ที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญาเป็นไปตามแผนหรือก่อนแผนเสมอ

สำหรับ BEM เป็นเอกชนที่ยื่นข้อเสนอประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผ่านเกณฑ์และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุด อีกทั้งข้อเสนอของ BEM ยังดำเนินการตามข้อกำหนดทางวิศวกรรม (specification) งานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วิธีการและเทคนิคการก่อร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างงานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องดูแลความปลอดภัยสูงสุด ระบบรถไฟฟ้าที่จัดซื้อมีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานนาน มาให้บริการแก่ประชาชน 

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ประเมินวงเงินการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คาดว่าจะใช้เงินทุนราว 1.2 แสนล้านบาท โดยจะจัดหาเงินทุนจากเงินกู้สถาบัน หรือออกหุ้นกู้ ไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อเพิ่มทุน ขณะที่การประเมินลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น บริษัทฯ ประเมินจากวงเงินลงทุนที่ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงคาดการณ์ว่าจะใช้เวลา 7 ปีถึงจุดคุ้มทุน (Break Even) ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยการคืนทุนดังกล่าว โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะต้องมีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 5 แสนคนต่อวัน