ดัชนีผาสุกเกษตรกร ปี 64 ลดลง แตะ 81.10% แต่ยังพัฒนาในระดับดี

ดัชนีผาสุกเกษตรกร ปี 64 ลดลง แตะ   81.10%  แต่ยังพัฒนาในระดับดี

สศก. เคาะตัวเลขดัชนีผาสุกเกษตรกร ปี 64 อยู่ที่ระดับ 81.10 พัฒนาในระดับดี แต่ลดลงจากปี 62 จากการฟื้นฟูทรัพยากรดินมีน้อย ภาคกลางนำโด่งที่ระดับ 82.33 รองลงมา ตำสุดอีสาน ระดับ 80.54เผย ขณะยังต้องปรับปรุงแก้ไขด้านสิ่งแวดล้อม-การศึกษา

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรไทย ว่า ที่ผ่านมา สศก. ได้ดำเนินการจัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกรเป็นประจำทุกปี และใช้เป็นตัวชี้วัดของแผนพัฒนาการเกษตร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2565) ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ ความผาสุกของเกษตรกรเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจการเกษตรเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

ดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ

  1. ด้านเศรษฐกิจ
  2. ด้านสุขอนามัย
  3. ด้านการศึกษา
  4. ด้านสังคม
  5. ด้านสิ่งแวดล้อม

 

ดัชนีผาสุกเกษตรกร ปี 64 ลดลง แตะ   81.10%  แต่ยังพัฒนาในระดับดี

ดัชนีผาสุกเกษตรกร ปี 64 ลดลง แตะ   81.10%  แต่ยังพัฒนาในระดับดี ดัชนีผาสุกเกษตรกร ปี 64 ลดลง แตะ   81.10%  แต่ยังพัฒนาในระดับดี

สำหรับข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณดัชนี เป็นข้อมูลจากการสำรวจของหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกรมการพัฒนาชุมชน กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงทำให้ข้อมูลล่าช้าไป 1 ปี และนำมาคำนวณ

โดยประยุกต์จากสูตรดัชนีความยากจนของคน (Human Poverty Index: HPI) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) อย่างไรก็ตาม การจัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในปี 2564 สศก. ได้นำมาเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งจากเดิมต้องเปรียบเทียบกับปี 2563 เนื่องมาจากสาเหตุการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ทำให้บางหน่วยงานไม่สามารถลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลพื้นฐานบางตัวที่ใช้ในการคำนวณดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ปี 2563 ได้

ดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ระดับประเทศ ในปี 2564 มีค่าอยู่ที่ระดับ 81.10 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ระดับ 81.48  

เมื่อพิจารณาดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค ในปี 2564 พบว่า

  • ภาคกลางมีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 82.33
  • ภาคใต้อยู่ที่ระดับ 82.23
  • ภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 81.12
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 80.54

ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดี โดยมีรายละเอียดในแต่ละด้าน ดังนี้

ดัชนีด้านสุขอนามัย ปี 2564 ภาพรวมระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ระดับ 98.77 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.79

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 99.22
  • ภาคกลางมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 98.98
  • ภาคเหนือมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 98.21
  • ภาคใต้มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 97.78

ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพการให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหาร และการดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมบริเวณที่พักอาศัยตามหลักสุขาภิบาลให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข

ดัชนีด้านสังคม ปี 2564 ภาพรวมระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ระดับ 92.64 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก ใกล้เคียงกับปี 2562 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ระดับ 92.67

  • ภาคกลาง มีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 94.98
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 92.37
  • ภาคเหนือ มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 92.36
  • ภาคใต้ มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 90.39 ซึ่งทุกภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีมาก

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเตรียมแผนรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องผ่านแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2545-2565) ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้อยู่กับครอบครัว มีค่านิยมในการอยู่ร่วมกับผู้สูงอายุ และสมาชิกในครอบครัวและผู้ดูแล มีศักยภาพในการดูแลผู้สูงอายุ และยังมีโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมถึงจูงใจคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรมากขึ้น

 

ดัชนีด้านเศรษฐกิจ ปี 2564 ภาพรวมระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ระดับ 77.31 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 75.58

  • ภาคใต้ มีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 86.28 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 78.60
  • ภาคกลาง มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 76.96 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง
  • ภาคเหนือ มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 69.15 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง

แม้ว่า จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายและมาตรการในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง อาทิ เพิ่มทักษะการประกอบอาชีพ การพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร รวมทั้งการประกันรายได้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

 

ดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2564 ภาพรวมระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ระดับ 64.49 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ลดลงจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 69.60

  • ภาคเหนือ มีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 77.48 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง 
  • ภาคกลาง มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 66.24
  • ภาคใต้ มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 60.74 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 57.08 เป็นการพัฒนาอยู่ระดับต้องเร่งแก้ไข

เป็นผลจากปี 2564 มีพื้นที่ได้รับการฟื้นฟูทรัพยากรดิน 2.02 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2.67 ล้านไร่ขณะที่สัดส่วนพื้นที่ป่าต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศลดลงเช่นกัน เนื่องจากภาครัฐดำเนินการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าภายใต้โครงการคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้กับชุมชน เพื่อทำเกษตรกรรมและเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ในชุมชน

 

ดัชนีด้านการศึกษา ปี 2564 ภาพรวมระดับประเทศมีค่าอยู่ที่ระดับ 56.28 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.09 แต่ยังคงเป็นการพัฒนาที่อยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข

  • ภาคใต้ มีค่าดัชนีมากที่สุดอยู่ที่ระดับ 62.19 รองลงมาเป็นภาคกลางมีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 60.15 ซึ่งเป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุง
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 56.03
  • ภาคเหนือ มีค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 51.67 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับต้องเร่งแก้ไข

ทั้งนี้ เนื่องจากสมาชิกครัวเรือนเกษตรส่วนใหญ่ในทุกภาคได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จึงมีผลต่อการปรับตัวและขาดองค์ความรู้ในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม

ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า จากการศึกษาและจัดทำดัชนีความผาสุกเกษตรกร  สศก. ได้สรุปข้อเสนอแนะในการพัฒนาแต่ละด้าน ดังนี้

ด้านการศึกษา ควรดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมให้สมาชิกครัวเรือนเกษตรได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ตลอดจนให้เกษตรกรได้รับการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการทำเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการผลิต

ด้านสิ่งแวดล้อม ควรดำเนินการส่งเสริมการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม การปลูกสวนป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ ด้านเศรษฐกิจ ควรเร่งจัดสรรที่ดินทำกินให้ครัวเรือนเกษตรที่มีกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินในระดับต่ำ โดยเฉพาะภาคกลางและภาคเหนือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและเพิ่มความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่งเสริมให้ครัวเรือนเกษตรทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงและความผันผวนด้านรายได้จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว และส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนเกษตรและบัญชีฟาร์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการลงทุนทางการเกษตรได้อย่างเป็นระบบ

ด้านสังคม ควรดำเนินการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่/สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะครัวเรือนในภาคใต้ เพื่อบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงประสบการณ์ระหว่างกัน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมถึงลดต้นทุนจากการใช้ปัจจัยการผลิตและวางแผนการตลาดร่วมกัน นำไปสู่การเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกษตรกร

ด้านสุขอนามัย ควรดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมด้านการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย มีคุณภาพ และได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการสุขาภิบาลที่พักอาศัย และสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านและชุมชน ทั้งนี้ ท่านที่สนในข้อมูลผลการศึกษาดัชนีความผาสุกของเกษตรกร สามารถสอบถามได้ที่ส่วนนโยบายและแผนพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร