สศช.จับตา "เงินเฟ้อ-สงคราม" เร่งรักษาโมเมนตัมฟื้นเศรษฐกิจ

สศช.จับตา "เงินเฟ้อ-สงคราม" เร่งรักษาโมเมนตัมฟื้นเศรษฐกิจ

สศช.มองเศรษฐกิจโลกปี 2566 ยังคงมีความเสี่ยงจับตา “เงินเฟ้อ-สงคราม” ย้ำการลงทุนยังคงมีความเสี่ยง ส่วนเศรษฐกิจไทยปีหน้า ขยายตัว 3-4% จากปัจจัยลงทุน พร้อมท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจากปีนี้ คาดมียอดนักท่องเที่ยวกว่า 20 ล้านคน หนุนรายได้ 1.2 ล้านล้าน

กรุงเทพธุรกิจ, ฐานเศรษฐกิจ และเนชั่นทีวี จัดสัมมนา “WEALTH FORUM ลงทุนอย่างไรให้รวย # ปี3” โดยมีผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนร่วมนำเสนอทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย 2023” ว่า การลงทุนมีความเสี่ยงไม่ว่าจะอย่างไรก็มีความเสี่ยง แต่การลงทุนก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เราจะลงทุนไม่งั้นอาจเสียโอกาส

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัว 4.5% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 และแม้ไตรมาส 2 จะไม่ดีมากเพราะเผชิญปัญหาซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรม รวมกับปัญหาราคาน้ำมันและความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวมาจากหลายปัจจัย เช่น การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน ภาคการผลิต และการท่องเที่ยว

สศช.จับตา "เงินเฟ้อ-สงคราม" เร่งรักษาโมเมนตัมฟื้นเศรษฐกิจ “กิจกรรมทางเศรษฐกิจประเทศตอนนี้เข้าสู่ภาวะปกติและคงฟื้นตัวขึ้นมาได้เรื่อย ๆ และรายจ่ายภาครัฐด้านสาธารสุขจะหายไปเนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งหลายประเทศก็ได้เปิดการท่องเที่ยวจะเห็นว่าสายการบินไปญี่ปุ่นหาเที่ยวบินยากมากในช่วงนี้ จึงอยากให้ประชาชนเที่ยวในประเทศก่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ”

ทั้งนี้ แม้ไตรมาส 3 จะพบการส่งออกไทยขยายตัวดีขึ้น แต่การนำเข้าสูงตามไปด้วย ส่งผลให้เกินดุลการค้า 14.9 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตเริ่มขยับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์เพราะปัญหาซัพพลายเชนเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตดีขึ้น ในขณะที่การท่องเที่ยวและการจองที่พักขยายตัว 50% ซึ่งเดือน ต.ค.2565 อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 50% ในขณะที่ 9 เดือนแรกการท่องเที่ยวเติบโต 43% จากการเปิดภาคการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนภาคการเกษตรเราหดตัวมาจากเรื่องของอุทกภัย

สศช.จับตา "เงินเฟ้อ-สงคราม" เร่งรักษาโมเมนตัมฟื้นเศรษฐกิจ ยืนยันเสถียรภาพเศรษฐกิจดี

ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่ดีมาก อัตราการว่างงานลดลงจากไตรมาส 2 ที่ 1.37% เหลือ 1.23% เงินเฟ้อเฉลี่ย 7.3% ถ้าเป็นรายเดือนก็เริ่มลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดทุนประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ่อนค่ายังคงต้องจับตามองและต้องเร่งส่งออกในปีหน้าเพื่อให้กลับมาเป็นบวก แม้ว่าทุนสำรองระหว่างประเทศจะยังมีความมั่นคงราว 2 แสนล้านดอลลาร์ ก็ตาม ส่วนหนี้สาธารณะอยู่ประมาณ 60.7% ของ GDP ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์

นายดนุชา กล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาที่ต้องติดตามและเป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหาในแง่ของเศรษฐกิจโลก เพราะขณะนี้อัตราการเจริญเติบโตของอเมริกาเศรษฐกิจหลักยังคงลดลง และมีแนวโน้มจะไม่โตอย่างที่คาดไว้ ส่วนประเทศเกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเวียดนามหรือมาเลเซียโต 2 หลัก ส่วนเศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในลำดับจะ Top 20-30 ของโลก แต่การที่เราจะขยายตัวขนาด 2 ดิจิต หรือ 7-8% ในช่วงถัดไป จะต้องอาศัยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

โลกยังเสี่ยงเงินเฟ้อปีหน้า

อัตราเงินเฟ้อหลายประเทศยังคงไม่ได้ แต่สหรัฐน่าจะเริ่มปรับตัวลงมาได้เล็กน้อย เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงปีหน้าเราต้องเผชิญกับเงินเฟ้อ ความขัดแย้ง ที่มีผลต่อราคาพลังงาน ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวได้ช้า เพราะจากนโยบาย Zero covid และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ยังแก้ปัญหาไม่ตก การฟื้นตัวจึงยาก ดังนั้น ในสมมติฐานที่ใช้ในการประมาณการสำหรับแนวโน้มปี 2566 จะโต 2.6% ปริมาณการค้าโลกยังคงชะลอตัวจากเดิมที่ปีนี้คาดว่า 4% ปีหน้าจะอยู่ที่ 2% ราคาน้ำมันยังคงอยู่ระดับสูง อาจมีบางช่วงขึ้นถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ถ้าไม่มีการยิงกันอาจอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”

สำหรับรายรับจากการท่องเที่ยวปีนี้จะอยู่ที่ 5.7 แสนล้านบาท ยอดนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน ปี 2566 จะอยู่ที่ 22 ล้านคนรายได้อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท และหากจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการในการให้การเดินทางระหว่างประเทศนักท่องเที่ยวจีนจะเข้ามาในประเทศไทยครึ่งหลังของปี 2566 ดังนั้นเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่า GDP จะโต 3.2% ส่วนปีหน้าคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตที่ 3.5 ประมาณ 3-4% ส่วนเรื่องของเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ในปีหน้า ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดหากส่งออกได้และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจะทำให้ดุลบัญชีเงินสะพัดกลับมาเป็นบวกได้

สศช.จับตา "เงินเฟ้อ-สงคราม" เร่งรักษาโมเมนตัมฟื้นเศรษฐกิจ “ท่องเที่ยว-ลงทุน”หนุนปี66

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนหลักในปี 2566 คือภาคการท่องเที่ยว การลงทุนของภาคเอกชน ขณะเดียวกันแนวโน้มนักลงทุนต่างประเทศเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะจากปัญหาตัวความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภูมิศาสตร์ทำให้ภาคธุรกิจมองหาการบริหารความเสี่ยงในการผลิตของตัวเองจึงมองประเทศที่เป็นกลาง ๆ อย่างประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้เตรียมในเรื่องของการปรับปรุงกฎระเบียบต่างต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศไปบ้างแล้ว

นอกจากนี้ อีกส่วนสนับสนุนคือการบริโภคภายในประเทศจะช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศไปได้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น การว่างงานลดลง ส่วนภาคการเกษตรปีหน้าจะขยายตัวได้ดีเพราะปริมาณน้ำที่เกิดขึ้นในปีนี้เพียงพอที่จะสนับสนุนภาคการเกษตร แม้ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมียังต้องนำเข้า และมีราคาสูง รัฐบาลจะต้องดึงในเรื่องของการส่งเสริมเกษตรกรเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองในชุมชน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

“ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหลัก ๆ คือความขัดแย้งและมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจยังเกิดขึ้นในปีหน้า ดังนั้น ปัญหาซัพพลายเชนยังคงอยู่ ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องลงทุนด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ จึงต้องเตรียมพร้อมบริหารความเสี่ยงการให้ข้อมูลประชาชนสำคัญ ส่วนปัญหาโควิด-19 ก็ยังทิ้งไม่ได้ เพราะเป็นเชื้อไวรัส

รักษาโมเมนตัมฟื้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ การบริหารเศรษฐกิจต่อไปนี้ จะต้องรักษาการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะเดียวกันจะต้องรีบปรับอีโคซิสเต็มที่เกี่ยวข้อง อาทิ อำนวยความสะดวกการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาในเมืองไทย จะเห็นได้จากการที่ AWS เข้ามาลงทุน ประเทศไทยต้องคุยและปรับกฎระเบียบต่าง ๆ พอสมควร ซึ่งในระยะถัดไปสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเปิดประตูรอให้ต่างชาติเข้ามาอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่ต้องมีทีมที่เข้าไปคุยเพราะในช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติยังมีโอกาส ความขัดแย้งของต่างประเทศส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เป็น Global Company ต้องหาเซฟโซนในการตั้งฐานการผลิต ดังนั้นประเทศไทยเป็นอีกที่สำคัญ จึงต้องพยายามดึงมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นอนาคตของประเทศ เช่น ชิปต้นน้ำ ที่จะต้องใช้ในเรื่องของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถ EV ดังนั้น ต่อจากนี้จนปี 2566 ต้องเร่งปรับโครงสร้าง กระจายการลงทุนออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่ได้อนุมัติเพิ่มเติมทำให้เกิดการกระจายการลงทุนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่เป็นภูมิภาคของประเทศ

ไทยลงทุน“อีวี”เต็มสูบ

อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนเศรษฐกิจในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะทำให้คนไม่ต้องกลับเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ และมีฐานเศรษฐกิจในภูมิภาค กระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนเรื่องของ EV จะต้องเดินหน้าเต็มที่ตลาดในเมืองไทยค่อนข้างใหญ่และเป็นฐานการส่งออกด้วย เราพยายามสร้างระบบการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ อาทิ แบตเตอรี่ที่จะไม่ใช่การผลิตระดับเซลล์ ส่วน ชิปและซอฟต์แวร์ ขณะนี้มีผู้ประกอบการต่างประเทศหลายรายสนใจตั้งโรงงานในเมืองไทย

“อย่าลืมว่าการลงทุนคือความเสี่ยง จะต้องดูให้ดีและปีหน้า ปัจจัยเสี่ยง อาจจะมีเพิ่มเติมก็ได้ ถือเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ ดังนั้น หน่วยงานเศรษฐกิจทั้งหมดกำลังช่วยกันมอนิเตอร์แลกเปลี่ยนข้อมูลตลอด เพื่อจะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและทุกคนจะไม่เจอวิกฤติ”