การทางฯ ประมูลด่วนกะทู้ - ป่าตอง ธ.ค.นี้

การทางฯ ประมูลด่วนกะทู้ - ป่าตอง ธ.ค.นี้

กทพ.ส่งโปรเจคท้ายปี ธ.ค.นี้ ลุยประมูลทางด่วนกะทู้ - ป่าตอง 1.46 หมื่นล้านบาท มอบสัมปทาน 35 ปี มั่นใจเอกชนแข่งขันคึกคัก

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายในปีนี้ กระทรวงฯ ยังมีโครงการที่จะเร่งรัดเปิดประมูล คือโครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ดำเนินการโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งแผนงานเบื้องต้นจะประกาศขายซองเอกสาร (ทีโออาร์) ภายในต้นเดือน ธ.ค.นี้ โดยกระทรวงฯ เชื่อว่าจะมีเอกชนสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการนี้ เนื่องจากโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง นับเป็นโครงข่ายทางด่วนที่มีศักยภาพ เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการจราจร เป็นทางเลือกการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า แผนดำเนินงานของโครงการทางพิเศษ สายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต หลังจากเปิดขายซองเอกสารในต้นเดือน ธ.ค.นี้ จะใช้เวลาในการขายซองเป็นเวลา 30 วัน หลังจากนั้นจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในต้นเดือน มี.ค.2566 และตามกระบวนการจะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอเอกชนเป็นเวลา 6 เดือน เบื้องต้นจึงคาดว่าจะได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูลปลายปี 2566 ก่อนจะเริ่มต้นก่อสร้างโครงการในปี 2567 ก่อสร้างและเสร็จเปิดให้บริการในปี 2570

"หลังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเอกชนทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการจำนวนมาก ซึ่งเรามีข้อกำหนดว่าสามารถรวมกลุ่มยื่นข้อเสนอได้ แต่เอกชนไทยจะต้องเป็นผู้นำกลุ่มในการยื่นข้อเสนอ โดยโครงการนี้จากผลการศึกษาเป็นโครงการที่มีความสามารถทำกำไร (Margin) อยู่ที่ 7.5% ก็ถือว่าสูงและน่าจะจูงใจเอกชน" 

สำหรับโครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่งรัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขณะที่เอกชนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง (รวมถึงควบคุมงาน) และการดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด

ทั้งนี้เอกชนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มเปิดบริการในลักษณะของ BTO (Build-Transfer-Operate) มีระยะเวลาร่วมลงทุนรวม 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed)
โดยแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบระหว่างรัฐ และเอกชนเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง ระยะเวลาไม่มากกว่า 4 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน
ระยะที่ 2 การดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา ระยะเวลานับจากสิ้นสุดระยะเวลาสำหรับงานระยะที่ 1

โดนระยะเวลารวมทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไม่มากกว่า 35 ปี มูลค่าเงินลงทุนโครงการรวม 14,670.57 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792.24 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 8,878.34 ล้านบาท ทั้งนี้ กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ ประมาณ 71,000 คันต่อวัน (รถยนต์ 36,000 คันต่อวัน รถจักรยานยนต์ 35,000 คันต่อวัน) สำหรับทางด่วนสายนี้มีขนาด 8 ช่องจราจร (ไป-กลับฝั่งละ 4 ช่องจราจร) ให้รถยนต์วิ่ง 2 ช่อง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร เบื้องต้นจัดเก็บค่าผ่านทางรถจักรยานยนต์ 15 บาท ,รถ 4 ล้อ 40 บาท, รถ 6-10 ล้อ 80 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 125 บาท