‘บางกอกแอร์เวย์ส’ เบรกบิน ‘หาดใหญ่-เบตง’

“บางกอกแอร์เวย์ส” เมินถก ทย.เปิดเส้นทางบิน “หาดใหญ่-เบตง” ติดข้อจำกัดหลายเรื่อง รอธุรกิจการบินฟื้นหลังโควิด-19 ลุยเปิดเส้นทางเดิมต่อ ภูเก็ต-สมุย-เชียงใหม่ คาดปี 65 ผู้โดยสารแตะ 2.6 ล้านคน

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดเผยว่า ขณะนี้สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ยังไม่มีแผนหารือกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ถึงการเปิดเส้นทางบินมายังท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ในช่วงก่อนเปิดให้บริการท่าอากาศยานเบตง ทางสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีความสนใจที่จะเปิดทำการบินในเส้นทาง หาดใหญ่-เบตง จึงได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าของการเปิดเส้นทางดังกล่าว แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ธุรกิจการบินได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จึงต้องชะลอการพิจารณาเรื่องนี้ไปก่อน และขอเวลาอีกสักระยะ ปีนี้น่าจะยังไม่ได้ข้อสรุป

“สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ยังมีข้อจำกัดในการเปิดเส้นทางบินมายังท่าอากาศยานเบตง ทั้งเรื่องเครื่องบินที่ต้องเป็นแบบใบพัด, บุคลากร และการบรรทุกน้ำมันไป-กลับ ดังนั้นในช่วงแรกหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ธุรกิจการบินเริ่มฟื้นตัว และผู้โดยสารเริ่มเดินทางมากขึ้น จึงขอดำเนินการเปิดเส้นทางเดิมที่สายการบินบางกอกแอร์เวย์สเคยเปิดให้บริการทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศให้ครบทั้งหมดก่อน โดยเฉพาะเส้นทางภูเก็ต, สมุย และเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันจำนวนเที่ยวบินที่เปิดให้บริการ ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และอยู่ระหว่างทยอยเพิ่มความถี่เที่ยวบินรองรับความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร”
 
ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 65 (ต.ค.-ธ.ค.65) สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส มีแผนจะกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบิน เส้นทางเชียงใหม่-กระบี่, เชียงใหม่-ภูเก็ต, สมุย-กระบี่, กรุงเทพฯ-หลวงพระบาง, กรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง และกรุงเทพฯ-ฟูโกว๊ก อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าในปี 65 สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จะมีเที่ยวบินทุกเส้นทางบินรวม 34,000 เที่ยวบิน ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร 3,080 ล้านที่นั่ง-กม.จำนวนผู้โดยสาร 2.64 ล้านคน รายได้จากการขนส่งผู้โดยสาร 8,175 ล้านบาท อัตราขนส่งผู้โดยสาร 73% และคาดว่าราคาตั๋วเฉลี่ยต่อเที่ยวอยู่ที่ 3,100 บาท
 
สำหรับท่าอากาศยานเบตง มีพื้นที่ 920 ไร่ เป็นท่าอากาศยานแห่งใหม่ล่าสุดลำดับที่ 29 ของ ทย. เริ่มก่อสร้างปี 59 วงเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 62 มีขนาดทางวิ่ง(รันเวย์) กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร ขณะที่อาคารที่พักผู้โดยสาร และอาคารประกอบ มีพื้นที่รวม 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง ปัจจุบันอยู่ระหว่างออกแบบงานก่อสร้าง พร้อมศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ขยายความยาวรันเวย์จาก 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพื่อให้สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่ 180 ที่นั่งได้ อาทิ แอร์บัส A320 และโบอิ้ง B-737 จากปัจจุบันรองรับได้เพียงอากาศยานขนาด 80 ที่นั่ง อาทิ Q400 และ ATR 72
อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานเบตง เปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ครั้งแรก ทำการบินเที่ยวบินประจำโดยสายการบินนกแอร์ ในเส้นทาง กรุงเทพฯ(ดอนเมือง)-เบตง ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ต.ค.65 มีเที่ยวบินรวม 162 เที่ยวบิน ผู้โดยสาร 12,518 คน ซึ่งการเปิดบินครั้งนั้นสายการบินนกแอร์ ลงนามความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.), สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว(สธทท.), บริษัท ซี.ซี.ที. เอ็กซ์เพรส จำกัด และแตงโมทัวร์ จัดแพ็คเกจท่องเที่ยวภายใต้แคมเปญ “#เบตง หรอยแรง แหล่งใต้ สไตล์นกแอร์” จนกระทั่งสิ้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา สายการบินนกแอร์ได้หยุดทำการบินชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า มีเครื่องบินในฝูงบินประสบอุบัติเหตุต้องซ่อมแซม ส่งผลให้เครื่องบินไม่เพียงพอ จึงต้องบริหารจัดการเส้นทางบินใหม่ ส่วนจะกลับมาทำการบินเส้นทางเบตงอีกเมื่อใดนั้น อยู่ระหว่างพิจารณา