เปิดทางเลือก ‘กม.ต่างชาติซื้อที่ดิน’ วัดใจรัฐบาลไปต่อหรือพอแค่นี้?

เปิดทางเลือก ‘กม.ต่างชาติซื้อที่ดิน’  วัดใจรัฐบาลไปต่อหรือพอแค่นี้?

กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …

ที่ให้ต่างชาติถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ โดยต้องมีการลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และคงการลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปี ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมาทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง รวมทั้งเป็นประเด็นทางการเมืองที่พรรคการเมืองต่างตบเท้าออกมาพูดถึงและมีข้อกล่าวหาว่าขายชาติที่ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาบุคคลสำคัญในรัฐบาล รวมถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาชี้แจงประเด็นข้อกฎกระทรวงนี้อย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีการหารือในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา

 “กรุงเทพธุรกิจ” ประมวลข้อคิดเห็น และความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นกับกฎหมายฉบับนี้ได้ 3 แนวทางว่ารัฐบาลมี “ทางเลือก” อย่างไรบ้างเกี่ยวกับประเด็นกฎกระทรวงฉบับนี้

1.เดินหน้าแก้ไขกฎกระทรวงฉบับนี้ตามที่ ครม.เมื่อวันที่ 25 ต.ค.เห็นชอบ โดยเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกานำร่างกฎกระทรวงไปรับความคิดเห็นตามขั้นตอน และมีการนำเอาร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กลับมาสู่การพิจารณาของ ครม. ครม.มติเห็นชอบโดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อ ครม.ยืนยันแล้ว ทำให้กฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้

โดยสาระสำคัญเงื่อนไขกฎกระทรวงฯจะเหมือนกับฉบับที่ประกาศใช้ในปี 2545 แต่จะปรับลดระยะเวลาในการคงการลงทุนในไทยไว้ไม่เกิน 3 ปี จากเดิม 5 ปี

ส่วนเงื่อนไขอื่นๆก็ให้มีการกำหนดไว้ตามที่มีการปรับปรุงร่างกฎกระทรวง เช่น การต้องผ่านการคัดเลือกให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ตามคุณสมบัติ 4 กลุ่มสามารถ ขอวีซ่าระยะยาว (LTR) ได้ก็ให้ดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.แล้ว

2.ปรับเปลี่ยนกฎกระทรวงฯฉบับนี้ตามข้อเสนอของฝ่ายต่างๆในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกว่ายังมีการปรับเปลี่ยนได้ในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้อาจมีการร่างกฎกระทรวงฯฉบับใหม่ให้ ครม.พิจารณา

โดยร่างขึ้นจากข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ เช่น การขยายระยะเวลาในการคงเงินลงทุนในประเทศไทย 5 ปี หรือ 10 ปี การเพิ่มวงเงินลงทุนในไทยจาก 40 ล้านบาทให้มากขึ้น หรืออาจเปลี่ยนถอยคำในเงินลงทุนเป็นสกุลเงินดอลลาร์ แทนสกุลเงินบาท รวมทั้งอาจมีการเพิ่มข้อเสนอเรื่องการให้เช่าที่ดินระยะยาวที่ได้มีการพูดถึงจากหลายฝ่ายว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเป็นทางออกของเรื่องนี้ได้

และ 3.รัฐบาลตีตกการแก้ไขร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ โดยไม่มีการนำร่างกฎกระทรวงที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณากลับมาสู่การพิจารณา ของ ครม.อีก เพื่อลดกระแสต่อต้านและแรงเสียดทานที่มีต่อเรื่องนี้ ทั้งนี้หากไม่มีการแก้กฎกระทรวงใหม่ก็จะกลับไปใช้กฎกระทรวงฉบับเดิมที่ออกมาในปี 2545 ซึ่งเปิดกว้างให้ชาวต่างชาติทุกกลุ่มที่มีการนำเอาเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท สามารถซื้อที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยบนที่ดินไม่เกิน 1 ไร่ได้โดยคงเงินลงทุนไว้ในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ ต้องจับตาดูว่าท้ายที่สุดแล้วทางเลือกสำหรับการแก้ไขกฎกระทรวงฯเรื่องให้ต่างชติถือครองที่ดินในไทยไม่เกิน 1 ไร่ เพื่อดึงดูดการลงทุน และการอยู่อาศัยของกลุ่มต่างชาติผู้มีรายได้สูงจะได้ข้อสรุปอย่างไร รัฐบาลจะเลือกไปต่อหรือเลือกพอสำหรับร่างกฎกระทรวงที่เป็นเรื่องร้อนแรงอยู่ในขณะนี้