ดาวโจนส์พลิกร่วงในกรอบแคบ 79 จุด หวั่นตัวเลขรับสมัครงานกระตุ้นเงินเฟ้อ

ดาวโจนส์พลิกร่วงในกรอบแคบ 79 จุด หวั่นตัวเลขรับสมัครงานกระตุ้นเงินเฟ้อ

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร (1พ.ย.)พลิกร่วงลง 79 จุด หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้นในเดือนก.ย. ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ และส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ นักลงทุนพากันขายทำกำไรจากการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นก่อนหน้านี้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลดลง 79.75 จุด หรือ 0.24% ปิดที่ 32,653.20 จุด

ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 15.88 จุด หรือ 0.41% ปิดที่ 3,856.10 จุด

ดัชนีแนสแด็ก ลดลง 97.30 จุด หรือ 0.89% ปิดที่ 10,890.55 จุด

ทั้งนี้ ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นเกือบ 14% ในเดือนต.ค. ทำสถิติปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนม.ค.2519 ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 และดัชนีแนสแด็กดีดตัวขึ้น 8% และ 3.9% ตามลำดับ

สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 437,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 10.7 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ย. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลงสู่ระดับ 9.85 ล้านตำแหน่ง

นักวิเคราะห์ระบุว่า การพุ่งขึ้นของตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ท่ามกลางภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน จะเป็นปัจจัยหนุนการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ เนื่องจากพนักงานจะมีอำนาจต่อรองในการขอขึ้นค่าแรงจากนายจ้าง

ทั้งนี้ ตัวเลข JOLTS นับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสนใจ โดยมองว่าเป็นมาตรวัดภาวะตึงตัวในตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณานโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยของเฟด

ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ดีดตัวขึ้นในช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย.ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมเดือนธ.ค. หลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

นอกจากนี้ ตลาดได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทไฟเซอร์ และอูเบอร์ รวมทั้งการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงต่ำกว่าระดับ 4% ในวันนี้

การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้บริษัทต่างๆสามารถลดต้นทุนในการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้เพิ่มการลงทุน และเพิ่มการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากความคาดหวังที่ว่าจีนจะกลับมาเปิดประเทศ หลังมีกระแสข่าวว่า จีนได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือการผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พ.ย. โดยการเลือกตั้งดังกล่าว ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ระหว่างพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน โดยจะมีการชิงชัยเก้าอี้ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจำนวน 435 ที่นั่ง รวมทั้งการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 35 ราย จากทั้งหมด 100 ราย นอกจากนี้ ยังมีการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐใน 39 มลรัฐ รวมทั้งการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอีกจำนวนมาก

ผลการสำรวจของ RealClearPolitics พบว่า พรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐหลังการเลือกตั้งกลางเทอม จากปัจจุบันที่พรรคเดโมแครตมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่เล็กน้อย ส่วนการเลือกตั้งในวุฒิสภาจะเป็นไปอย่างสูสีระหว่างพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ซึ่งก่อนการเลือกตั้งทั้งสองพรรคมีคะแนนเสียงเท่ากันอยู่ที่ 50-50

เจ้าหน้าที่หลายรายในทำเนียบขาวยอมรับว่า พวกเขามีความกังวลว่าพรรคเดโมแครตอาจสูญเสียการครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ขณะที่ผลสำรวจพบว่าพรรคเดโมแครตอาจเสียเก้าอี้ในวุฒิสภาในหลายรัฐให้แก่พรรครีพับลิกัน หลังจากที่ชาวอเมริกันไม่พอใจต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของรัฐบาล

หากพรรครีพับลิกันคว้าชัยชนะเหนือพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้ ก็จะทำให้การบริหารประเทศของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในช่วงที่เหลืออีก 2 ปี เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยคาดว่าพรรครีพับลิกันจะขัดขวางการผ่านกฎหมายต่างๆ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 50.2 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2563 แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 50.0 จากระดับ 50.9 ในเดือนก.ย.

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน