‘กรอบเพดานหนี้ฯ’ บีบประกันข้าวปี 4 ‘พาณิชย์’เล็งซอยโครงการทยอยเข้า ครม.

‘กรอบเพดานหนี้ฯ’ บีบประกันข้าวปี 4  ‘พาณิชย์’เล็งซอยโครงการทยอยเข้า ครม.

โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และมาตรการคู่ขนาน ที่จะดำเนินการในปีนี้เป็นปีที่ 4 โดยมีวงเงินที่ผ่านการอนุมัติมาจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อเดือน ก.ย.ปี 2562 ที่ผ่านมาเป็นวงเงินกว่า 150,127 ล้านบาท

ล่าสุดโครงการนี้ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าโครงการประกันรายได้ชาวนาปี 4 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ยังไม่ได้นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เนื่องจากโครงการมีวงเงินที่สูง หากอนุมัติทั้งหมด 150,127 ล้านบาท ก็จะกระทบกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561  ที่กำหนดไว้

ทั้งนี้แม้ว่าในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้มีการขยับเพดานหนี้สาธารณะตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จาก 30% ไปเป็น 35% เป็นการชั่วคราวกำหนดระยะเวลา 1 ปี แต่ในปี้นี้กระทรวงการคลังพยายามที่จะปรับลดสัดส่วนการก่อหนี้เพิ่มในส่วนดังกล่าวลงจาก 35% ให้เหลือ 31 – 32%

ดังนั้นเมื่อวงเงินในการประกันราคาข้าวมีวงเงินในการดำเนินโครงการที่สูงมาก เมื่อดำเนินการจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะตามมาตรา 28 เพิ่มขึ้นเกินกรอบที่กระทรวงการคลังกำหนด กระทรวงพาณิชย์ในฐานะเจ้าของโครงการ และกระทรวงการคลังที่กำกับดูแลวินัยการเงินและการคลัง ได้หารือกัน โดยอาจใช้วิธีการซอยหรือแบ่งโครงการโครงการประกันรายได้ชาวนาปี 4 ออกเป็นระยะ (เฟส) ในการเสนอให้ ครม.พิจารณาเป็นครั้งๆไปแทนที่จะขอนำวงเงินทั้งโครงการเข้ามาเสนอให้ ครม.พิจารณาในคราวเดียว

“โครงการประกันรายได้ชาวนาปี 4 เพื่อเลี่ยงปัญหาทางบัญชีที่เมื่อโครงการมีวงเงินสูง ก็ต้องนำเสนอครม.เป็นเฟส ซึ่งยังไงเสียโครงการนี้ก็ต้องเกิด ชาวนาก็ต้องได้เงิน ช้าหน่อยแต่ก็ได้"

สำหรับโครงการประกันรายได้ชาวนาปี 4 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจาก นบข.แล้ว จะสนับสนุนค่าบริหารจัดการเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินรายละ 20 ไร่ และมาตรการคู่ขนานรักษาเสถียรภาพราคา”

โครงการประกันรายได้ชาวนาปี 4 งบประมาณรวมกันทั้งสิ้น 86,740.31 ล้านบาท รวม 33 งวด โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 4.689 ล้านครัวเรือน  งวดงวดแรกเริ่มต้น 14 ต.ค.65 งวดสุดท้ายวันที่ 26 พ.ค.66 และ นบข.ยังอนุมัติมาตรการคู่ขนาน ได้แก้มาตรการชะลอการขาย สำหรับเกษตรกร ตั้งเป้าหมาย 2.5 ล้านตัน จะช่วยชดเชยตันละ 1,500 บาท

สำหรับสถาบันเกษตรกรที่ชะลอขายข้าวจะช่วยดอกเบี้ย 3 % ตั้งเป้า 1 ล้านตัน 3.ช่วยโรงสีที่เก็บข้าวไว้ไม่ปล่อยออกสู่ตลาด จะช่วยดอก 3 %  เป้าหมาย 4 ล้านตัน รวมวงเงิน 7,107 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเรื่องต้นทุนและการบริหารจัดการข้าว หรือที่เรียกว่า ไร่ละ 1,000 รายละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทจำนวน 4.68 ล้านครอบครัว วงเงิน 55,364 ล้านบาท