'ปิดทองหลังพระ' จับมือคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ ออกหน่วยทันตกรรมพื้นที่ชายแดนใต้

'ปิดทองหลังพระ' จับมือคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ ออกหน่วยทันตกรรมพื้นที่ชายแดนใต้

สถาบันปิดทองหลังพระฯ นำคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ ออกหน่วยทันตกรรมพระราชทาน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ให้บริการคนในพื้นที่2 วันกว่า 2,090 คน

เมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม 2565 นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้ลงพื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจกลุ่มทันตแพทย์ อาสาสมัคร และบุคลากรทางแพทย์ของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่จากโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ รวมทั้ง อสม.ในพื้นที่รวม 110 คน

ซึ่งได้ปฎิบัติงานร่วมกันตามโครงการออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานเคลื่อนที่ซึ่งสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เป็นหน่วยงานประสานงานกับคณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและจังหวัดนราธิวาส

รวมทั้งหน่วยงานทหารและหน่วยงานราชการในพื้นที่ เพื่อให้บริการทางทันตกรรมแก่ประชาชน และนักเรียน ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส รวม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอรือเสาะ เจาะไอร้อง ศรีสาคร ยี่งอ และ บาเจาะ ณ อาคารสนามกีฬา เทศบาลตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

โดยมีบริการตรวจรักษาโรคในช่องปาก เช่น การอุดฟัน ถอนฟัน ขุดหินปูน ผ่าตัดฟันคุด ฯลฯโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการตรวจและรักษาเพื่อเป็นถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งนี้การให้บริการทั้ง 2 วันมีผู้เข้ารับบริการมากกว่า 2,090 คน

\'ปิดทองหลังพระ\' จับมือคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ ออกหน่วยทันตกรรมพื้นที่ชายแดนใต้

นายกฤษฎา บุญราช ในฐานะประธานกรรมการสถาบันฯ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการออกหน่วยทันตกรรม พระราชทานฯ ว่าได้มีการดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2512 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ได้เสด็จไปทรงงานเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ชนบทและพบว่าประชาชนในชนบทห่างไกลปัญหาโรคฟันหรือโรคในช่องปากเป็นจำนวนมาก

เพราะขาดความรู้หรือความเข้าใจในการดูแลรักษาสุขภาพฟันที่ถูกต้อง เนื่องจากขาดแคลนทันตแพทย์ที่จะทำการตรวจรักษาในพื้นที่ จึงได้โปรดเกล้าฯให้แพทย์และทันตแพทย์ที่ตามเสด็จไปได้ทำการดูแลรักษาโรคในช่องปากให้แก่ประชาชนด้วยและต่อมาจึงได้โปรดเกล้าฯให้มีการดำเนินการตามโครงการออกหน่วยทันตกรรมพระราชทาน เคลื่อนที่ ในปี 2512 โดยจะเปิดบริการให้แก่ประชาชนทุกครั้งที่ได้เสด็จเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ที่เสด็จไปทรงงานทุกครั้ง

ในปัจจุบัน สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้น้อมนำโครงการออกหน่วยทันตกรรมพระราชทาน เคลื่อนที่ดังกล่าวมาสืบสาน ต่อยอดและขยายผลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาในช่องปากและมีโอกาสในการเข้าถึงบริการทันตกรรมในโรงพยาบาลของรัฐได้น้อย

\'ปิดทองหลังพระ\' จับมือคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ ออกหน่วยทันตกรรมพื้นที่ชายแดนใต้

เนื่องจากจำนวนทันตแพทย์ในพื้นที่มีไม่เพียงพอ ประชาชนอาจต้องรอรับบริการไม่ต่ำกว่า 3 เดือนรวมทั้งเพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์และโรงพยาบาลในพื้นที่อีกด้วย โดยสถาบันฯได้เริ่มดำเนินการโครงการนี้ ตั้งแต่ปี 2561 ที่อำเภอสายบุรี จ.ปัตตานีปี 2562 ที่อำเภอบันนังสตา จ.ยะลา

ต่อมาในปี2563-2565 ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้หยุดดำเนินการชั่วคราว และในปี 2565 เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 น้อยลง สถาบันฯจึงเริ่มโครงการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทานนี้อีกที่อำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส และจะขยายผลดำเนินการตามโครงการนี้ไปดำเนินการในพื้นที่ภูมิภาคอื่นปีละ 1-2 ครั้งต่อไป.