“หอการค้า”ดันเวทีเอเปคเพิ่มเชื่อมั่นลงทุน “อีอีซี”

“หอการค้า”ดันเวทีเอเปคเพิ่มเชื่อมั่นลงทุน “อีอีซี”

หอการค้าไทย มองเวทีเอเปค โอกาสสำคัญไทย จูงใจนักลงทุน 21 เศรษฐกิจ เข้าลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี มั่นใจอีอีซีเเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย ด้านพาณิชย์ เผยยอดจัดตั้งใหม่ 9 เดือนในอีอีซี 6,294 ราย  เพิ่มขึ้น 23.87% 

ในระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC CEO Summit 2022 ซึ่งจะเป็นเวทีที่ผู้นำทางธุรกิจที่จะได้เสนอแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยภาคเอกชนได้มีการหารือเพื่อสรุปข้อเสนอให้กับผู้นำ APEC

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทยมองว่า การประชุม APEC CEO Summit 2022 ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญของไทยโดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในระยะที่ 2 เพราะการประชุมเอเปคจะมีผู้นำ ผู้ประกอบการและนักลงทุนจากจาก 21 เขตเศรษฐกิจของกลุ่ม APEC ซึ่งไทยควรใช้โอกาสนี้เชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพื่อร่วมขยายโอกาส ฟื้นฟูและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจจากลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของอีอีซีอย่างเต็มที่ และยินดีให้ความร่วมมือในจัดงาน EEC Fair 2024 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงครึ่งแผนการลงทุนระยะ 2 ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท รวมทั้งจะเป็นเวทีประกาศความสำเร็จของอีอีซีแต่ละมิติตามแผนลงทุน และเป็นโอกาสสำคัญที่จะจูงใจนักลงทุนจากทั่วโลก

“หอการค้า”ดันเวทีเอเปคเพิ่มเชื่อมั่นลงทุน “อีอีซี”

 

นอกจากนี้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้อีอีซีได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในแต่ละมิติ จนเกิดความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งเกินจากเป้าหมายที่ได้วางไว้เดิม 1.7 ล้านล้านบาท โดยเม็ดเงินกว่า 6 แสนล้านบาทเพื่อเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 4 โครงการ ซึ่งปัจจุบันได้เอกชนร่วมลงทุนและเซ็นสัญญาครบแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ช่วงก่อสร้างปลายปีนี้

รวมทั้งยังมีการดึงดูดเทคโนโลยีใหม่ผ่านการอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-curve ในสัดส่วน 70 % ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และอีก 5 New S-Curve ในสัดส่วนการลงทุน 36% ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 นี้ รวมไปถึง การสร้างระบบพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาดหรือ Demand Driven เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับนวัตกรรมใหม่ โดยอบรมไปได้แล้วกว่า 16,000 คน คาดว่าสิ้นปี 2566 จะอบรมได้ถึง 100,000 คน ตลอดจน ร่วมกับสถาบันทางการเงินของรัฐ 9 แห่งเพื่อช่วย SMEs ให้สามารถฟื้นฟูธุรกิจหลังโควิด-19

สำหรับความสำเร็จสำคัญที่ผ่านมาอีอีซี ยังดำเนินงานต่อเนื่องและเข้มข้น โดยเดินสายเชิญชวนนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในอีอีซี ซึ่งอีอีซีวางเป้าหมายลงทุนอีก 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) ไว้ที่มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน ดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยกระดับชุมชนและประชาชน ตลอดจนใช้จุดเด่นของประเทศเพื่อการพัฒนาแบบก้าวกระโดด เช่น ระบบ 5G นโยบายด้าน EV เทคโนโลยีทางการแพทย์และ Wellness ซึ่งคาดว่า เศรษฐกิจในอีอีซี จะสามารถขยายตัวได้ 7 - 9% ต่อปี ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ประมาณ 5% ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

ขณะที่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วง 9เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค-ก.ย.. 2565) มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเขตพื้นที่อีอีซี ประกอบด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง รวม 6,294ราย ทุนจดทะเบียน 27,219.99 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.-กย.. 2564 จำนวน 5,081 ราย เติบโตเพิ่มขึ้นคิดเป็น 23.87% 

ส่วนมูลค่าทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 14,837.44 ล้านบาท คิดเป็น 83.45 % โดย 72.20% เป็นการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จำนวน 57,143 รายปัจจุบันพื้นที่อีอีซีมีนิติบุคคลคงอยู่ ณ 31 ก.ย. 2565 จำนวน 79,515ราย ทุนจดทะเบียนรวม 1,558,421.73  ล้านบาท