หวั่นเศรษฐกิจโลก”ถดถอย”ฉุดส่งออก สรท.ห่วงเงินเฟ้อฉุดกำลังซื้อคู่ค้า

หวั่นเศรษฐกิจโลก”ถดถอย”ฉุดส่งออก สรท.ห่วงเงินเฟ้อฉุดกำลังซื้อคู่ค้า

ส่งออก ก.ย.ขยายตัว 7.8% ต่อเนื่อง 19 เดือน ปัจจัยบาทอ่อน เศรษฐกิจฟื้น ปัญหาขาดเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลาย ดันยานยนต์โตดเด่น สรท.ห่วงเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยลามไปอียู ปัญหาเงินเฟ้อลากยาวตามราคาพลังงาน

กระทรวงพาณิชย์รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 9 เดือน แรกของปี 2565 โดยการส่งออกเดือน ก.ย.2565 ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง มีมูลค่า 24,919.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.8% ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 การนำเข้าเดือนก.ย. มีมูลค่า 25,772.5 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.6% ขาดดุลการค้า 853.2 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ภาพรวม 9 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) ส่งออกมีมูลค่า 221,366.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.6% นำเข้ามูลค่า 236,351.0 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 20.7% ทำให้ 9 เดือนแรก ปี 2565 ไทยขาดดุลการค้า 14,984.9 ล้านดอลลาร์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกเดือน ก.ย.ขยายตัวมองได้ 3 ประเด็น คือ 

1.โลกกำลังกลับมา ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและใช้ชีวิตในภาวะปกติ หลังการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด ทำให้การส่งออกอาหารในรูปแบบต่างๆของประเทศไทย รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อัญมณี เครื่องประดับ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้สำหรับการเดินทางและเครื่องสำอางส่งออกได้ดีขึ้น 

2.ภาวะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มคลี่คลายส่งผลให้การส่งออกรถจักรยานยนต์และรถยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์สามารถกลับมาผลิตได้

3.การอ่อนค่าของค่าเงินบาททำให้เราสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้นโดยเฉพาะข้าว คาดว่าปีนี้จะทำได้เกินเป้าที่กำหนดไว้ เดิม 7 ล้านตัน

หวั่นเศรษฐกิจโลก”ถดถอย”ฉุดส่งออก สรท.ห่วงเงินเฟ้อฉุดกำลังซื้อคู่ค้า

 

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือน ก.ย.2565 สินค้าเกษตร เพิ่ม 2.7% สินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 82.9%ผลไม้แช่แข็งและผลไม้แห้ง เพิ่ม 31.5% ทุเรียนแช่แข็ง เพิ่ม 56.2% ลำไยและลำไยแห้ง เพิ่ม 8.1% ข้าว เพิ่ม 2.7% 

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้น 0.8% สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ไอศกรีม เพิ่มขึ้น 43.2% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เพิ่มขึ้น 19.8% น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้น 16.3% และอาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่มขึ้น 13.4%

รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 9.4% สินค้าที่ขยายตัว เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 115.7% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้น 89.6% เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เพิ่มขึ้น 77.2% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 49.2% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 23.4% รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 8.4%

ขยายตัวเกือบทุกตลาด

สำหรับตลาดส่งออกที่ขยายตัว 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่มขึ้น 70% 2.สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้น 51.5% 3.ซาอุดิอาระเบีย เพิ่มขึ้น 36.7% 4.CLMV เพิ่มขึ้น 26.3% 5.สหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.2% 

6.สหภาพยุโรป (อียู) เพิ่มขึ้น 18.0% 7.ทวีปออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 15.5% 8.แคนาดา เพิ่มขึ้น 10.6% 9.อาเซียน (5 ประเทศ) เพิ่ม 9.0% และ 10.ลาตินอเมริกา เพิ่มขึ้น 6.3%

“แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะยังเติบโตได้ดี และการส่งออกยังจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยหลังจากประเมินสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าการส่งออกทั้งปีจะทำได้เกินไปกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4%โดยน่าจะเกินกว่าเป้าไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว หรือประมาณ 8%”นายจุรินทร์ กล่าว

การค้าชายแดนโต19.3%

ส่วนการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา เดือนก.ย.2565 การส่ออกมีมูลค่า 57,017 ล้านบาท เพิ่ม 7.2% และยอดรวม 9 เดือน มูลค่า 489,940 ล้านบาท เพิ่ม 19.3% โดยปัจจัยที่ทำให้การส่งออกชายแดนเพิ่มขึ้นมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้แข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งทำได้ดีขึ้น ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น และความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไทยไปเมียนมาและสปป.ลาวมีมูลค่าสูงขึ้น 

ส่วนการส่งออกผ่านแดนไปจีน เวียดนาม และสิงคโปร์ มีมูลค่า 34,036 ล้านบาท ลดลง 22.9% รวม 9 เดือน มูลค่า 283,962 ล้านบาท ลดลง 23% เพราะไทยหันไปส่งออกทางเรือมากขึ้น การส่งออกไปทางบกจึงลดลง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับทิศทางนโยบายทางการค้าของรัฐบาลจีนหลังนายสี จิ้นผิงประธานาธิบดีจีนเป็นผู้นำสมัยที่ 3 นั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณทางลบ การส่งออกของไทยไปยังจีนก็ยังไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะหากจีนผ่อนคลายมาตรการซีโร่โควิด ความเชื่อมโยงทางการค้าและเศรษฐกิจก็จะเพิ่มมูลค่าทางการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน แม้ว่าที่ผ่านมาการส่งออกไทยไปยังตลาดจีน เดือน ก.ย.ลดลง 13.2% ต่อเนื่อง 4 เดือนขณะที่ 9 เดือนแรกปี 65 หดตัว 5.9% 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้การดุลการค้ามีแนวโน้มขาดดุลลดลงแล้ว จากทิศทางการนำเข้าที่เริ่มลดลง โดยเดือน ก.ย.ยอดขาดดุลการค้าลดลงเหลือ 853 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.ที่ไทยขาดดุลการค้า 4,215 ล้านดอลลาร์ สาเหตุสำคัญที่ไทยขาดดุลการค้ามาจากการนำเข้าน้ำมันและก๊าซ ซึ่งราคาในตลาดโลกยังสูง ทั้งนี้คาดว่าในระยะต่อไปการขาดดุลการจะน้อยลง

สรท.ห่วงเศรษฐกิจโลกถดถอย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าว ขณะนี้รอลุ้นอยู่ว่าจะโตได้ถึง 10% โดยหากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ที่คลี่คลายแล้วยังไปได้ดีต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี และค่าเงินบาทที่อ่อนค่ามา 38 บาทต่อดอลลาร์ เป็นอานิงสงค์ต่อการส่งอออกไทย 

รวมถึงการส่งออกไก่ของไทยที่โตเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% แต่ปัจจัยที่ห่วงคือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในตลาดหลัก เช่น สหรัฐและอียู โดยเฉพาะในอียูที่เศรษฐกิจชะลอตัวแล้ว จากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงและปัญหาพลังงานขาดแคลนในหน้าหนาวจะทำให้กำลังซื้อลดลง

สัญญาณส่งออกชะลอตัว

นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือน ก.ย.ที่ขยายตัว 7.8% ถือว่าสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งตลาดคาดไว้เพียง 4-5% โดยสาเหตุมาจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้การส่งออกรถจักรยานยนต์และรถยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์สามารถกลับมาผลิตได้ประกอบกับการอ่อนค่าของค่าเงินบาททำให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น

ส่วนการนำเข้าชะลอตัว สาเหตุจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง และดุลการค้าขาดดุลลดลง ถือว่าเดือน ก.ย.เป็นตัวเลขที่ดี

สำหรับแนวโน้มระยะข้างหน้า นายเชาว์ มองว่า ยังต้องระวังเพราะสัญญาณเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปและอังกฤษ ขยับเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและชี้ไปในทางถดถอยชัดเจนขึ้น

ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจหลักของโลกเปราะบางมากขึ้น และยังต้องเผชิญกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเหล่านี้ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นนับว่าเป็นปัจจัยท้าทาย ภาคส่งออกของไทย ใน 3 เดือนสุดท้ายปีนี้โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ส่งออกไทยปีนี้ขยายตัว 7-8% และปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัวลดลงเหลือ 2-3% 

นายเชาว์ กล่าวต่อว่า ตัวเลขการขาดดุลการค้ามีแนวโน้มว่าจะลดลงชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 4 ปีนี้ ทำให้ทั้งปียอดขาดดุลแตะ 16,800 ล้านดอลลาร์ และยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องในปีหน้าด้วย ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสลดลง แม้ปัจจุบันยังทรงตัวระดับสูง

ลุ้นปีหน้าบัญชีเดินสะพัดพลิกเกินดุล

ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัด มองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้เริ่มมีแนวโน้มลดลง และปีหน้ามีโอกาสพลิกกลับมาเกินดุลได้เล็กน้อย จากการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นกลับมา ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาระดับ 10 ล้านคน และมีโอกาสเพิ่มเป็น 20 ล้านคนในปีหน้า

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงจีดีพีไทยปีนี้ขยายตัวที่ 2.8% และปีหน้าขยายตัวเกิน 3% (กรอบ 3.3%-4%) ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยงต่างชาติจะมีการฟื้นตัวกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb analytics) กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือนก.ย.ถือว่าสูงกว่าที่คาดไว้ที่ 5-6% แต่แนวโน้มในช่วงที่เหลือปีนี้ยังมีทิศทางชะลอตัวลง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า คาดว่าส่งออกปีนี้ขยายตัวเกิน 5%