“เอกชน" แนะรัฐเร่งยกระดับ "ขีดความสามารถการแข่งขัน" ประเทศ

“เอกชน" แนะรัฐเร่งยกระดับ "ขีดความสามารถการแข่งขัน" ประเทศ

ส.อ.ท. เสนอรัฐเร่งยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันไทย เดินหน้ากิโยตินกฎระเบียบล้าสมัย พร้อมผลักดันบริการรัฐดิจิทัล ลดการสูญเสียจากต้นทุนที่ไม่จำเป็น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในปี2565 ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือIMD สวิตเซอร์แลนด์ ร่วงลงมาถึง 5 อันดับ อยู่ที่อันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ โดยมีอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด ซึ่งปัจจัยด้านเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดของโควิด-19

โดยปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับใช้รวม 4 ด้าน ประกอบด้วย ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับลดลงถึง 13 อันดับ จากประเด็นการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจภายในประเทศ 

ในขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) มีอันดับลดลง 11 อันดับจากอันดับที่ 20 ในปี 2564 เป็นอันดับที่ 31 เนื่องจากประเด็นด้านการคลังและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ซึ่งลดลง 15 และ 8 อันดับตามลำดับ 

ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ก็มีอันดับที่ลดลงเช่นกัน จากอันดับที่ 21 มาอยู่ที่อันดับ 30 โดยประเด็นด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพยังคงเป็นปัญหาหลักและมีอันดับลดลงถึง 7 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 47 ในปีนี้ 

ขณะที่ในด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีอันดับลดลง 1 อันดับ จากอันดับที่ 43 มาอยู่ที่อันดับ 44

ทั้งนี้ ลำดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ร่วงลงมาจากปัจจัยทั้ง 4 ด้าน สะท้อนถึง ความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลที่เราควรรีบเร่งให้เกิดการพัฒนาให้กลับมาอยู่ในลำดับที่ดีขึ้น โดย ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะดังนี้

1. การปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Guillotine) โดยอ้างอิงจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า หากรัฐบาลดำเนินการกิโยตินกฎระเบียบเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตหรืออนุมัติทั้งหมด 198 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับ 1,094 กระบวนงานโดยแก้ไขกฎระเบียบที่ล้าสมัย 43% และเลิกกฎระเบียบที่สร้างปัญหาและไม่มีประโยชน์ 39% จะสามารถลดต้นทุนของทั้งภาครัฐและประชาชนได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 0.8 % ของ GDP

2. ปรับการบริการภาครัฐสู่ระบบดิจิทัล (Digatal Government) อาทิ การใช้ระบบ One Stop Service โดยเน้นสำหรับทุกหน่วยงานให้เร่งดำเนินการอย่างจริงจังและครอบคลุม เพื่อสร้างความสะดวก รวมเร็วในการบริการภาคเอกชนและประชาชน ถือเป็นการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นทั้งด้านเวลาและทรัพยากรอื่นๆ อีกทั้งเพิ่มการโปร่งใสในการบริการ 

3. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งด้านปัจจัยเงินทุนสนับสนุนและการสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไทยเป็นเจ้าของเอง 

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันรัฐจะมีการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แต่มองว่ายังมีความจำเป็นในการเร่งขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งการพัฒนาด้านกฎหมายและแนวทางในการกำกับดูแลเพื่อรองรับในด้านนี้อย่างแท้จริง เพื่อเพิ่มขีดความสารถของธุรกิจและเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ