เวทีผู้ส่งออกโลกลุ้นจบปัญหาค่าระวางเรือแพง

เวทีผู้ส่งออกโลกลุ้นจบปัญหาค่าระวางเรือแพง

สรท.ผนึกกำลังผู้ส่งออกโลก ออกแถลงการณ์ 3ข้อ กดดันสายเดินเรือหาทางออกค่าระวางเรือ ผลักดันการขนส่งทางทะเลให้เป็นธรรม หลังค่าระวางเรือพุ่งกระฉุด ดันต้นทุนสินค้าสูง หวังปัญหาคลี่คลาย

ปัญหาจากการขาดแคลนตู้สินค้าและค่าระวางเรือ(Space) ที่สูงขึ้นประมาณ 7-10 เท่า ตั้งแต่ปี 64  ทำให้เกิดวิกฤตการขนส่งสินค้าทางทะเลต่อการส่งออกของไทยและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งการส่งออกของไทยยังคงต้องอาศัยการขนส่งทางทะเลไปยังคู่ค้าของไทยในทวีปต่างๆโดยเฉพาะสหรัฐ การที่ค่าระวางเรือสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าสูงตามไปด้วย

โดยต้นเหตุที่มาของปัญหามาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้  แรงงานและประสิทธิภาพท่าเรือในหลายประเทศลดลง การปิดกิจการและโรงงานผลิตชั่วคราว การส่งออกของจีนฟื้นตัวและอุปสงค์สหรัฐและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น ประเด็นคลองสุเอซและการหยุดชะงักอื่นของการปฏิบัติงานในท่าเรือที่สำคัญหลายแห่ง ข้อจำกัดของการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ  ความแออัดของท่าเรือและระยะเวลาการขนส่งจากท่าเรือถึงท่าเรือนานขึ้น  เรือล่าช้ากว่ากำหนดส่งผลต่อการหมุนเวียนคอนเทนเนอร์ช้าลงทั่วโลก  ตู้คอนเทนเนอร์และระวางเรือขาดแคลน ส่งผลให้อัตราค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ตลอดจนชี้แจงผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในเอเชีย 

ตลอด 2 ปีที่ผ่ามา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)พยายามที่แก้ปัญหาโดยใช้ความร่วมมือระหว่างผู้ส่งออกประเทศต่างๆ โดยสถานการณ์เริ่มดีขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 65  จากการที่โควิดเริ่มคลี่คลาย  มีการเปิดเมือง ทำกิจกรรมเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก็ค่าระวางเรือก็ยังสูงอยู่ จากภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้น  

เวทีผู้ส่งออกโลกลุ้นจบปัญหาค่าระวางเรือแพง

ล่าสุดเมื่อ วันที่ 11-12 ต.ค.ที่ผ่านมา สรท. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Global Shippers’ Alliance และ Asian Shippers’ Alliance (ASA) Annual Meeting 2022  เพื่อแก้ปัญหาค่าระวางเรือและผลักดันการขนส่งทางทะเลให้เป็นธรรม โดยมีตัวแทนจากชาติสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมด 32 คน

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสรท. กล่าวว่า  ที่ประชุมเห็นชอบมติที่สำคัญร่วมกัน ประกอบไปด้วย  1.สภาผู้ส่งสินค้าโลก (GSA) และ สภาผู้ส่งสินค้าเอเซีย (ASA) เห็นชอบร่วมกันให้มีการออกแถลงการณ์กำหนดเงื่อนไขการให้บริการของสายเรือคอนเทนเนอร์ (Cargo Bill of Rights Manifesto) เพื่อยกระดับคุณภาพการบริการขั้นต่ำ (Minimal level of Service) และการปฏิบัติที่เป็นธรรมของการให้บริการของผู้ขนส่งต่อผู้ส่งสินค้า รวมถึงเพื่อใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินการให้บริการของสายเรือคอนเทนเนอร์ โดยจะมีการกำหนดรายละเอียดของข้อเสนอแนะในเอกสาร Bill of Cargo Rights

2. เห็นชอบให้มีการหารือกับสายเรืออย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ผู้การขนส่งในระบบคอนเทนเนอร์ สภาผู้ส่งสินค้าทั่วโลก (GSA) จะประสานการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดกับสายเรือคอนเทนเนอร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาและยกระดับความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน ลดการรวมตัวของสายเรือในลักษณะพันธมิตร (Shipping Alliance) ที่มีผลต่อการสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ส่งสินค้าและคุณภาพการให้บริการที่ลดลง รวมถึงผลักดันไปยังหน่วยงานกำกับการแข่งขันทางการค้าของแต่ละประเทศทั่วโลก อาทิ US Federal Maritime Commission (FMC) ของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อเพิ่มการแข่งขันและรับรองระบบการการค้าที่เป็นธรรม

3. ความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลและความยั่งยืน สภาผู้ส่งสินค้าทั่วโลก (GSA) รับทราบถึงความสำคัญของการยกระดับรูปแบบการค้าและบริการให้เป็นดิจิทัลและตระหนักถึงความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางดิจิทัล การพัฒนาช่องทางอำนวยความสะดวกของภาครัฐ ณ จุดเดียว รวมถึงการขับเคลื่อนวิธีการเชิงโครงสร้างในห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลดการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น

ปัจจุบัน ค่าระวางเรือในเดือนก.ย.ปรับลดลงเกือบทุกเส้นทาง  โดยเส้นทางที่ค่าระวาง ปรับลดลง ได้แก่ เส้นทางยุโรป เส้นทางเมดิเตอร์เรเนียน เส้นทางอเมริกาฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก เส้นทางดูไบ เส้นทางออสเตรเลีย เส้นทางแอฟริกาฝั่งตะวันตก และตะวันออก เส้นทางแอฟริกาใต้ รวมถึงเส้นทางอเมริกาใต้ เส้นทางญี่ปุ่นฝั่งตะวันตก และตะวันออก และเส้นทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนเส้นทางที่ค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ เส้นทางเกาหลี

อย่างไรก็ตาม“ผู้ส่งออก” ไทยยังต้องเผชิญความท้าทายจากต้นทุนค่าระวางเรือที่สูง เพราะจากภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับขึ้น แม้ว่าขณะนี้นี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง แต่ยังไม่สามารถทำให้ค่าระวางเรือปรับตัวลดลงได้ และยังมีผลต่อเส้นทางเดินเรือที่เอกชนต้องวางแผนและเจรจากับผู้นำเข้าล่วงหน้า ซึ่งหากปัญหาค่าระวางเรือยังไม่ทุเลาลงอาจฉุดรั้งการเติบโตส่งออกไทยได้อย่างหลีกเลี่ยงไมได้