'ศักดิ์สยาม' ชี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวหมดสัมปทาน 30 ปี คุมราคา 20 บาทตลอดสาย

'ศักดิ์สยาม' ชี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวหมดสัมปทาน 30 ปี คุมราคา 20 บาทตลอดสาย

“ศักดิ์สยาม” สั่งระบบขนส่งทางรางเร่งศึกษา EV Train หนุนใช้แบตเตอรี่ ชี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวหมดสัมปทาน 30 ปี ลดต้นทุนค่าก่อสร้างและติดตั้งระบบ มีความเป็นไปได้สูงดันราคา 20 บาทตลอดสาย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล “สถานีดีพร้อม” ประจำปี 2565 โดยระบุว่า ปัจจุบันระบบขนส่งทางรางยังมีต้นทุนสูงหากเทียบกับระบบขนส่งทางบก ซึ่งกระทรวงฯ มีนโยบายให้ทุกระบบขนส่งพัฒนาพลังงานทางเลือก หรือพลังงานไฟฟ้า (EV) เนื่องจากจะสามารถลดต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิงไปได้จำนวนมาก และประโยชน์จากการลดต้นทุนพลังงานยังจะทำให้ต้นทุนค่าโดยสารของประชาชนถูกลง

อย่างไรก็ดี ในส่วนของระบบขนส่งทางราง ปัจจุบันมีบางส่วนใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ก็พบว่าเป็นพลังงานที่ต้องมีการติดตั้งระบบที่ราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นตนจึงฝากให้ทุกภาคส่วนเริ่มดำเนินการศึกษาพลังงานทางเลือก ใช้ไฟฟ้าจากระบบอื่น เช่น แบตเตอรี่ ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่าการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยหากสามารถดำเนินการได้จริง เชื่อว่าอนาคตค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทมีความเป็นไปได้

“ตอนนี้รถไฟฟ้ามีต้นทุนสูงจากการติดตั้งระบบ มีค่าก่อสร้างต่างๆ แต่หากรถไฟฟ้าที่ครบสัมปทาน 30 ปีไปแล้ว ค่าติดตั้งระบบและค่าก่อสร้างก็จะถูกหักลบออกไป และจะทำให้สามารถควบคุมราคาค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทได้ เหมือนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัมปทาน เชื่อว่าหากคำนวณต้นทุนดีๆ ตัวเลข 20 บาทก็เป็นไปได้ แต่จะทำได้เมื่อไหร่นั้นต้องรอให้ร่าง พรบ.กรมการขนส่งทางรางประกาศใช้ก่อน เพราะกรมการขนส่งทางรางมีสถานะเป็นผู้กำกับระบบขนส่งทางรางทั้งหมด สามารถกำหนดค่ามาตรฐานต่างๆ รวมถึงต้นทุนค่าโดยสารได้ด้วย”

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันทราบว่ามีทางเอกชนกำลังพัฒนารถไฟระบบ EV Train ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทดลองวิ่งในรางรถไฟจริงในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งผลการศึกษาฝีมือคนไทยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบขนส่งทางราง ลดต้นทุนพลังงานในอนาคต โดยสิ่งเหล่านี้กระทรวงฯ จะนำมาพิจารณาอยู่ในแผนจัดหาหัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ขร. ได้จัดกิจกรรมการประกวด “สถานีดีพร้อม” ภายใต้แนวคิด “กรมรางสร้างสุข ด้วยคุณภาพดีพร้อม DRT creates happiness of stations” นำร่องประเมินคุณภาพสถานีขนส่งทางรางทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสถานีให้มีความพร้อมในการให้บริการที่ดี และมีความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อ

\'ศักดิ์สยาม\' ชี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวหมดสัมปทาน 30 ปี คุมราคา 20 บาทตลอดสาย

โดยจากผลการจัดกิจกรรมการประกวด “สถานีดีพร้อม” มีสถานีรถไฟเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 43 สถานี แบ่งเป็น กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง จำนวน 28 สถานี และกลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานี ซึ่งการพิจารณาตัดสินรางวัลในครั้งนี้ได้ใช้เกณฑ์การประเมิน 8 ด้าน ประกอบด้วย

1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น การให้บริการที่จอดรถ ทางเข้า - ออก ในการรองรับการใช้บริการ การจำหน่ายบัตรโดยสาร

 2) ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) เช่น การเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น

 3) ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ (Information) เช่น ป้ายบอกทิศทางในสถานี

การติดประกาศ/การให้ข้อมูลในการเดินทาง

 4) ด้านความปลอดภัย (Safety and Security) เช่น มาตรการป้องกัน COVID – 19 การติดตั้งกล้องวงจรปิด ไฟส่องสว่าง หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทางออกฉุกเฉิน

 5) ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก (Comfort) เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า/อาหาร/เครื่องดื่ม ความสามารถในการรองรับผู้มาใช้บริการ

 6) ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design เช่น สิ่งอำนวยความสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

 7) ด้านการให้บริการ (Customer Care) เช่น กิริยามารยาทและความสุภาพของเจ้าหน้าที่

 8) ด้านสุนทรียภาพ (Aesthetic) เช่น สุนทรียภาพ อัตลักษณ์ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมของสถานี

สรุปผลการตัดสินสถานีที่ได้รับรางวัล ดังนี้

กลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศ

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สถานีเชียงใหม่
  • รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ สถานีชุมทางหาดใหญ่
  • รางวัลชมเชย ได้แก่ สถานีนครราชสีมา สถานีบุรีรัมย์ และสถานีศรีสะเกษ

กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สถานีเพชรบุรี (BL21)
  • รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ สถานีหมอชิต (N8)
  • รางวัลชมเชย ได้แก่ สถานีสุขุมวิท (BL22) สถานีลาดพร้าว (BL15) และสถานีแยก คปอ. (N23)