จับตาบอร์ด กสทช. เคาะดีล’ทรู-ดีแทค’!!

จับตาการประชุม บอร์ด กสทช.วันนี้ที่มีวาระการพิจารณาเรื่องควบรวมทรู-ดีแทค หลังจากยืดเยื้อมานานว่าจะจบหรือไม่ ขณะที่ 1 ในบอร์ด กสทช. ยอมรับว่าการควบรวมอาจต้องยืดออกไปแต่คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนนี้จะได้ข้อสรุป

วันนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด กสทช. จะพิจารณาดีลควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค เป็นวาระแรกที่เริ่มพิจารณาตั้งแต่เวลา 9.30 น. แม้ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบว่าบอร์ดมีอำนาจในการพิจารณาหรือไม่ และหากมีอำนาจจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต

กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ระบุ การประชุมวันนี้ (12 ต.ค.) มีวาระการขอรวมธุรกิจระหว่าง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค แต่อย่างไรก็ดี บอร์ด กสทช.จำเป็นต้องหารือข้อมูลใหม่ตามที่บอร์ดมีมติให้จ้างบริษัทวิจัยต่างประเทศ ศึกษาผลกระทบของผู้บริโภคจากการควบรวมกิจการบริการโทรศัพท์มือถือซึ่งบอร์ดต้องมาหารือถึงขั้นตอนต่างๆ ในการลงมติ 

เบื้องต้นยอมรับว่าผลศึกษามีข้อกังวลถึงผลกระทบต่อตลาด รวมถึงการศึกษามาตรการเยียวยา ส่วนการที่เอกชนมายื่นเรื่องเร่งรัดให้บอร์ดกสทช.เร่งพิจารณาเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจเอกชนได้ ยืนยันว่า กสทช.ไม่ได้ยื้อเรื่องนี้ คาดว่าไม่เกินสิ้นเดือน ต.ค.นี้จะได้ข้อสรุป แต่ในวันนี้เข้าใจว่าจะไม่มีการลงมติใดๆ

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ที่บอกว่า มีความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการลงคะแนนในมติแต่อย่างใด เพราะบอร์ด กสทช.ต้องรอผลวิจัยที่ได้ว่าจ้างว่าเป็นอย่างไร ซึ่งผลสรุปที่ออกมาค่อนข้างไปในแนวทางที่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม และมีผลศึกษาของในหลายประเทศ ที่ระบุออกมาว่าการควบรวมไม่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม

ขณะที่วันนี้มีตัวแทนกลุ่มเครือข่ายแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท NT และเครือข่ายภาคประชาชน มายื่นหนังสือบอร์ด กสทช.คัดค้านการควบรวมทรูและดีแทค โดยมีเลขานุการประธาน กสทช.พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข และผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช.สายงานกิจการโทรคมนาคม จิตสถา ศรีประเสริฐสุข เป็นตัวแทนมารับหนังสือ

 ‘ก้าวไกล’ จ่อฟ้อง กสทช. ขัด ม.157 

ด้านรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล​ ฝ่ายนโยบาย​ ศิริกัญญา​ ตันสกุล​ ระบุ วันนี้มาติดตามสังเกตการณ์ทวงถามความคืบหน้าหลังจากมายื่นหนังสือคัดค้านมาหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมาจากคณะกรรมการ กสทช. ในประเด็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคหลังการควบรวม  การจัดซื้อจัดจ้างงานวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ยังมีข้อกังขา รวมถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ซึ่งมองว่าเป็นการโยนเรื่องไปมา และกรณีตรวจสอบพบว่าบล. ฟินันซ่า ที่ปรึกษาอิสระ ถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นของบริษัท ซีพี ซึ่งอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนจนอาจทำให้การยื่นควบรวมเป็นโมฆะได้ ดังนั้น กสทช.ต้องมีคำตอบให้ประชาชน เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความโปร่งใส ประชาชนไร้ซึ่งข้อกังขาไม่ว่าผลการพิจารณาจะออกมาอย่างไร ซึ่งคาดหวังว่าผลของการประชุมวันนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคเป็นไปในแนวทางที่จะไม่ให้เกิดการควบรวมเกิดขึ้น เพราะหากเกิดการควบรวมและผูกขาดธุรกิจผลกระทบจะตกอยู่ที่ประชาชน

ทั้งนี้ หากสุดท้ายแล้วเกิดการควบรวมขึ้น ต้องดูรายละเอียดว่า กสทช.ตีความกฎหมายไปในแนวทางใด หากกสทช.ระบุว่าเป็นเพียงการรับรายงานและออกประกาศหรือเงื่อนไขเฉพาะเท่ากับเป็นการปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของตนเอง พรรคก้าวไกลเตรียมที่จะฟ้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 


สำหรับทางออกของ กสทช.ที่อยากให้เกิดขึ้นคือการใช้อำนาจที่มีอย่างเต็มที่ ยับยั้งการควบรวมไม่ให้เกิดขึ้นโดยการพิจารณาไม่ให้ควบรวม เพราะไม่เห็นทางอื่นนอกจากนี้ว่าจะทำให้ผลประโยชน์ของประชาชนได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ หากอนุญาตให้ควบรวมก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้สภาพการแข่งขันยังคงเดิมเหมือนตอนที่มีรายใหญ่ 3 ราย จึงควรที่ต้องป้องกันไว้ก่อนคือไม่อนุญาตให้ควบรวม