“จอน เพนไรซ์” ฉายภาพกลยุทธ์ Dow รับกติกาโลกใหม่

“จอน เพนไรซ์” ฉายภาพกลยุทธ์ Dow รับกติกาโลกใหม่

มุมมอง “ประธาน บริษัท ดาว ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก” ความผันผวนเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้ แนะธุรกิจวางแผนระยะยาวที่ยืดหยุ่น รับการเปลี่ยนแปลงทุกสถานการณ์

จอน เพนไรซ์ ประธาน บริษัท ดาว ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 ในหัวข้อ “New World Order: New Strategy กลยุทธ์รับกติกาโลกใหม่” ว่า ความผันผวน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครคาดการณ์ถึงผลกระทบอย่างรุนแรงที่ตามมา ตั้งแต่การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ในปี 2020 ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ไปทั่วโลก จากนั้นปี 2021 สภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างรุนแรงทำให้ต้องสั่งปิดโรงงานผลิตเคมีคอลในสหรัฐ และในปีนี้สงครามที่ปะทุขึ้นในยูเครนทำให้เกิดวิกฤติด้านพลังงานรวมถึงผลกระทบอื่นๆ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น คำถามคือแล้วในปี 2023 จะเกิดอะไรขึ้น

“สิ่งที่สำคัญกว่าการคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคต คือ การรู้ว่าเราจะทำอะไร และอุตสาหกรรมควรทำอย่างไรจึงจะสามารถเตรียมพร้อมรับกับทุกสถานการณ์”

โดยบริษัท ดาว เคมิคอล ได้ดำเนินตามกลยุทธ์ที่วางไว้อย่างต่อเนื่องทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1. ยึดความต้องการผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง โดยการใช้ประสบการณ์ของลูกค้าเป็นตัวชี้วัดผลงาน

2. มีความยืดหยุ่น และคล่องตัว ภายใต้เป้าหมายการเป็นซัพพลายเออร์ที่น่าเชื่อถือและปลอดภัย โดยมีการจัดการห่วงโซ่การผลิตที่เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ 

3. การมีวินัยทางการเงิน โดยให้ความสำคัญกับสภาพคล่องธุรกิจ และสมดุลปริมาณหนี้

4. สร้างความหลากหลายให้พอร์ตการลงทุน ทั้งในด้านตลาดผู้ใช้งาน และภูมิศาสตร์ 

สำหรับในปี 2023 วิกฤติความผันผวนที่บริษัทต้องเตรียมรับมือ ประกอบไปด้วย ราคาพลังงานทั้งน้ำมัน และแก๊สในยุโรปที่อยู่ในระดับสูง และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งยังชะลอการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ และการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์

ในขณะเดียวกัน บริษัทมองโอกาสในปี 2023 ที่จะมีส่วนในการกำหนดทิศทางการวางแผนกลยุทธ์ แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ หลังจากการระบาดของโควิด-19 และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ปะทุขึ้น ได้เปลี่ยนแนวคิดของภาคอุตสาหกรรมไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้การพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานเพียงแห่งเดียวกลายเป็นความเสี่ยง และเกิดเทรนด์การย้ายฐานผลิตจากจีนอย่างเห็นได้ชัด และเป็นโอกาสของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย รวมทั้งการย้ายโรงงานบางส่วนกลับไปยังสหรัฐ และยุโรป แม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการลดความเสี่ยง

2. การดำเนินกลยุทธ์ ESG เป็นแผนการลดความเสี่ยงระยะยาว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องลดการปล่อยคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุน และพัฒนานวัตกรรมอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งระหว่างรัฐ และเอกชน 

โดยบริษัทเองตั้งเป้าสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ด้วยการพัฒนาและวิจัยวัสดุอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง พลาสติกหมุนเวียนในแพ็กเกจจิ้ง พร้อมกับการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ และสามารถแข่งขันได้

3. การครองใจพนักงานและดึงดูดคนเก่งๆ โดยการทำความเข้าใจเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนไป อาทิ การทำงานจากที่ไหนก็ได้ 

“หากจะให้จัดลำดับความสำคัญสิ่งที่ธุรกิจต้องทำท่ามกลางวิกฤติ และความผันผวน ไม่ใช่การคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจแค่ในระยะสั้น แต่ควรจะพัฒนาแผนการที่ยืดหยุ่น และคล่องตัวเพื่อการรับมือในระยะยาว”
 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์