สภาอุตฯ หวังรายได้ทัวร์ริสต์ ‘พยุง’ ค่าบาท

จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเป็น 1% ต่อปีจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท.เกรียงไกร เธียรนุกุล ระบุ จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเป็น 1% ต่อปีจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า โดยหากยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเลยจะยิ่งทำให้แนวโน้มค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าต่อเนื่องได้และจะกดดันให้ไทยเกิดขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายของภาคเอกชนเพราะเป็นบริบทที่ ธปท.ได้เฝ้าดิตตามอย่างใกล้ชิดซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงทุกฝ่าย ชั่งน้ำหนักถึงผลดีผลเสีย

ค่าเงินบาทของไทยมีโอกาสหลุด 38 บาทต่อเดอลลาร์ตามทิศทางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ หลังจากสหรัฐทำสงครามกับเงินเฟ้อโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% และจะขึ้นดอกเบี้ยอีกไปสู่ระดับ 4.4% ในสิ้นปีนี้ ซึ่งก็จะทำให้ค่าเงินทุกสกุลอ่อนค่าลง เช่นเดียวกับค่าเงินบาทของไทยที่หากไม่ทำอะไรต่อไปก็จะหลุด 39 บาทต่อดอลลาร์และอ่อนไปเรื่อยๆ เช่นกัน แน่นอนว่าการที่เงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีในภาคการส่งออกทำให้แข่งขันได้มาก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเข้ามามากขึ้น แต่ผลกระทบจะอยู่ที่ประชาชนที่ค่าเงินบาทยิ่งอ่อนจะทำให้ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสำหรับกลุ่มผู้ผลิตหรืออุตสาหกรรมนำมาผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ มีภาระต้นทุนแพงขึ้นท้ายที่สุดต้องผลักภาระโดยขึ้นราคาสินค้าไปยังผู้บริโภค รวมถึงราคาพลังงานที่ต้องนำเข้าแพงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

ขณะนี้มีสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นเมื่อเงินบาทอ่อน เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะเห็นได้ว่าในเดือนสิงหาคมติดลบอยู่กว่า 4 พันล้านดอลลาร์ รวมแล้วกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้น ไทยต้องมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องเข้ามาตามเป้าหมายมากกว่า 2-3 ล้านคนต่อเดือน ในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี ความต้องการใช้เงินบาทของนักท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยที่สร้างเสถียรภาพค่าเงินบาทให้ดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะดีขึ้นด้วย